บ้านกาหนั๊วะ ชุมชนมุสลิมขนาดใหญ่ ในตำบลกาลิซา อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ก็ไม่ต่างจากพื้นที่ในจังหวัดอื่นๆ ที่มีปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี ด้วยจำนวนประชากรกว่า 3,000 คน และนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมา ทำให้มีขยะถูกทิ้งและรอการกำจัดถึงวันละกว่า 5 ตัน กลายเป็นปัญหาส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และทำให้ “มาหะมะ สาอุ” สมาชิกเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ตำบลระแงะ รับบทบาทเป็นฟันเฟืองสำคัญ ประสานงานกับผู้นำชุมชน สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนราธิวาส และเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลกาลิซา วางแนวทางลดปริมาณขยะในชุมชน

แนวทางการแก้ปัญหา

มาหะมะเปิดเผยว่า ได้อาศัยโอกาสที่เคยไปดูงานการจัดการขยะที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เลยนำแนวทางมาปรับใช้กับชุมชนกาหนั๊วะ โดยเฉพาะการคัดแยกขยะ การนำขยะอินทรีย์มาแปรรูปเป็นปุ๋ยหมัก และทำปุ๋ยน้ำชีวภาพจากไส้ปลา โดยมีการจัดตั้งคณะทำงานเป็นทีมขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อมของหมู่บ้าน แบ่งเป็นฝ่ายต่างๆ ทั้งฝ่ายประชาสัมพันธ์ และฝ่ายพี่เลี้ยงเยาวชน ที่ทำหน้าที่ปลูกสร้างจิตสำนึกด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กับเด็กและเยาวชนในหมู่บ้าน

กิจกรรมมีตั้งแต่การเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่คนในชุมชนเกี่ยวกับการรู้คุณค่าของขยะ วิธีการคัดแยกขยะที่ทุกคนสามารถทำได้ง่ายๆ ที่บ้าน และการจัดการขยะในครัวเรือนโดยไม่ต้องรอองค์การบริหารส่วนตำบลเข้ามาจัดการเก็บขยะไปทิ้ง นอกจากนี้ยังมีการติดป้ายรณรงค์ห้ามทิ้งขยะและจัดกิจกรรมเดินเก็บขยะตามริมทาง โดยมาหะมะ ยังมีบทบาทในการดำเนินการจัดการขยะในครัวเรือนของเขาเองอย่างจริงจังเพื่อเป็นแบบอย่างให้คนในชุมชนเห็นและปฏิบัติตาม

เยาวชนมีส่วนร่วม

กลุ่มเยาวชนตาดีกา ประมาณ 30 คน จากศูนย์อบรมคุณธรรมและจริยธรรมสำหรับเยาวชน เป็นเด็กๆ กลุ่มที่เคยได้รับการปลูกฝังจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์มาแล้ว พวกเขาได้เข้าไปช่วยทำให้การจัดการขยะในชุมชนกาหนั๊วะ เป็นรูปเป็นร่างขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่มีการจัดกิจกรรมแต่ละครั้งก็มักจะมีคนทิ้งขยะจำนวนมากไว้เกลื่อนกลาด กลุ่มเยาวชนตาดีกา จะช่วยกันรับผิดชอบจัดเก็บขยะจนสถานที่จัดงานสะอาดเรียบร้อย

มาหะมะบอกว่า เขารู้สึกภูมิใจทุกครั้งที่กิจกรรมเสร็จสิ้นลง แล้วจะมีเด็กๆ มาช่วยกันเก็บขยะจนสะอาด ทำให้ภาพของสถานที่ก่อนจัดงานและหลังจัดงาน มีความสะอาดเรียบร้อยไม่แตกต่างกัน โดยเด็กๆ จะทำงานกันเองโดยไม่คิดว่าการจัดการขยะต้องเป็นเรื่องของ อบต. เท่านั้น แต่พวกเขารู้ว่าเป็นหน้าที่ของทุกคน

ผลสำเร็จของการร่วมแรงร่วมใจ

ก่อนที่มาหะมะ สมาชิกทสม. จะขับเคลื่อนกิจกรรมลดขยะ ในชุมชนกาหนั๊วะมีขยะวันละกว่า 5 ตัน แต่หลังจากนำแนวทางการจัดการขยะชุมชนมาใช้ ปริมาณขยะก็ลดลงไปถึง 30% ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและบ่อเกิดปัญหาสุขภาพอนามัยของประชาชนก็หมดไป เขาบอกว่าจะเดินหน้าทำเรื่องขยะเท่าที่เขารู้และสามารถทำได้ จากนั้นก็จะถ่ายทอดความรู้ให้กับชุมชนต่อไป และยังมีแผนที่จะนำแนวทางนี้ไปยังท้องถิ่นข้างเคียงและบูรณาการการคัดแยกขยะให้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในโรงเรียนด้วย

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดผลสำเร็จคือการร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชนมุสลิม ซึ่งมีวิถีชีวิตยึดโยงอยู่กับศาสนา มีมัสยิดเป็นศูนย์กลางกระจายข่าวสาร เผยแพร่ความรู้และสร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมให้กับคนในชุมชน

พลังของจิตอาสาทสม.

มาหะมะเปิดเผยว่า ความสำเร็จที่ผ่านมา เกิดจากการทำงานโดยยึดหลัก 4ป. ตามบทบาทหน้าที่ของทสม. ได้แก่ประสาน ประชาสัมพันธ์ ปฏิบัติ และประเมินผล อย่างครบถ้วน ทำให้เกิดการประสานความร่วมมือและทำงานร่วมกันระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น และนอกจากนี้มาหะมะยังยึดหลักการลงมือทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง เพื่อให้คนในชุมชนมองเห็นว่าการจัดการขยะเป็นเรื่องง่าย สามารถทำตามได้

นอกจากนี้มาหะมะมองว่า บทบาทหน้าที่ทางสังคมของเขา ที่คนในชุมชนให้ความเคารพนับถือ เป็นสิ่งสำคัญในการผลักดันเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชนจนประสบความสำเร็จ.