กลายเป็นกระแสลามไปทั่วแผ่นดินมังกร สำหรับแคมเปญล่าสุดของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่รณรงค์ให้ประชาชนคนหนุ่มสาว “หยุด” การกินทิ้ง กินขว้าง ภายหลังการระบาดของโควิด-19 และภัยธรรมชาติในประเทศจีนที่ถาโถมตามมาอีกหลายระลอก

การกินให้หมดจาน แม้จะดูเป็นเรื่องเล็กๆแต่ในยุคนิว นอร์มอล เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆเลย เป็นเรื่องใหญ่ระดับโลกและอาจเลยไกลไปถึงจักรวาลเลยทีเดียว

จริงๆแล้วไม่ใช่แค่ที่จีนที่มีการรณรงค์เรื่องทำนองนี้ ก่อนหน้านี้ รัฐเวอร์มอนต์ (Vermont) ของสหรัฐอเมริกา เป็นรัฐแรกมีการประกาศ ห้ามประชาชนทิ้งขยะอาหาร ซึ่งรวมถึงเศษผักผลไม้ และอาหารที่เหลือจากการบริโภค ลงในถังขยะสาธารณะ ซึ่งหมายความว่าครัวเรือนทั่วไปรวมถึงบริษัทเอกชน ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า จะต้องเก็บขยะอาหารของตัวเองไปฝังกลบในที่ดินของตัวเองหรือทำปุ๋ยอินทรีย์ บำรุงดินและพืชผักเอาไว้ใช้ โดยให้นิยามของคำว่า “ขยะอาหารและเศษอาหาร” ครอบคลุมตั้งแต่เศษผักผลไม้ เปลือกผลไม้ เปลือกไข่ ไล่ไปจนถึงเศษกระดูก กากชา-กาแฟ หญ้าและใบไม้ หลังจากที่ในช่วงเวลามากกว่าศตวรรษที่ผ่านมา ขยะอาหารถูกทิ้งในถังขยะสาธารณะและไปจบลงในบ่อขยะของทางการหรือของเอกชนในสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของขยะทั้งหมดจากครัวเรือนของรัฐเวอร์มอนต์ และมีข้อมูลว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งหรือ 50% ของขยะที่ถูกทิ้งในแต่ละวัน คือ ขยะอาหาร

...

ทั้งนี้ ข้อมูลขาก องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า อาหารต้องกลายมาเป็นขยะในขั้นตอนเก็บเกี่ยวมากถึง 10% และขั้นตอนการเก็บวัตถุดิบในฟาร์มอีก 8% โดยมีผลผลิตทางการเกษตรถึงมากกว่า 20,000 ล้านกิโลกรัม ที่ต้องเน่าเสียจากการเก็บรักษาที่ไม่ดี เช่น ถูกแมลง เชื้อราหรือนกกัดกิน ขณะที่เมล็ดพืชมากกว่า 7,500 ล้านกิโลกรัมต้องเสียหายไปต่อปี เพราะสภาพโกดังที่เก่าและไม่ได้มาตรฐาน

ส่วนในจีน นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่จีนออกแคมเปญรณรงค์เพื่อลดขยะอาหาร ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา รัฐบาลจีนได้ให้เมืองต่างๆจำนวน 100 เมือง หาแนวทางบริหารจัดการขยะด้วยตัวเอง โดยร้านอาหารจะถูกปรับตามจำนวนขยะที่สร้างขึ้นมา ด้วยระบบติดตามทางออนไลน์

ปี 2013 จีนเคยรณรงค์ปฏิบัติการเกลี้ยงจานในลักษณะนี้มาแล้ว โดยมุ่งเป้าไปที่งานจัดเลี้ยงหรู และงานเลี้ยงรับรองที่จัดขึ้นโดยทางการ ซึ่งมักจะเหลือทิ้งอาหารจำนวนมาก แต่ยังไม่ได้ลงลึกหรือเน้นประเด็นที่ประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคหลักโดยทั่วไป

ปี 2016 จีนได้เริ่มบังคับใช้กฎหมายการจัดการขยะ เพื่อให้การจัดการขยะเป็นไปอย่างโปร่งใส ป้องกันการทิ้งขยะผิดกฎหมาย และสนับสนุนการรีไซเคิลและรียูสขยะ รวมถึงการนำขยะอาหารมาย่อยสลายให้กลายเป็นก๊าซชีวภาพและนำไปแปลงให้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อใช้ประโยชน์ ซึ่งปัจจุบันก็มีหลายเมืองในจีนที่ทดลองทำก๊าซชีวภาพจากขยะอาหาร เพื่อแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า และนำไปใช้เป็นส่วนผสมของปุ๋ยหมัก

เดือนกรกฎาคมปี 2019 นครเซี่ยงไฮ้ เมืองที่มีประชาชนมากที่สุดในโลก ได้บังคับกฎเข้มงวดต่อทั้งบุคคลและบริษัทต่างๆในการนำอาหารเหลือทิ้งมารีไซเคิล โดยหากฝ่าฝืนประชาชนจะต้องถูกปรับหรือลงโทษ รวมทั้งอาจจะถูกหักแต้มทางสังคม จากนั้นเมืองอื่นๆก็เริ่มนำมาตรการของเซี่ยงไฮ้ไปเป็นโมเดล เพื่อบังคับใช้ตาม หลังพบว่า ปัญหาขยะในจีนทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลในปี 2019 พบว่ามีผลิตภัณฑ์อาหารมากถึง 6% หรือราว 35 ล้านกิโลกรัม ที่ต้องกลายเป็นขยะไปก่อนที่จะถึงมือผู้บริโภค ทั้งในกระบวนการเก็บรักษาในครัวเรือน ในคลังสินค้า การขนส่ง และแม้แต่ในกระบวนการผลิต

และอย่างที่บอกแคมเปญนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะนอกจากจะลดปัญหาขยะแล้ว ในอีกด้านก็เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับโลก

ReFED องค์กรเครือข่ายธุรกิจ ภาครัฐ เอกชน และมูลนิธิ ที่มีเป้าหมายลดอาหารเหลือทิ้งในสหรัฐอเมริการายงานว่า ตอนนี้มีธุรกิจและองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรกว่า 70 แห่งลงมือเปลี่ยนวัตถุดิบส่วนเกินหรือใช้แล้ว ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่

อย่างเช่น TOAST ALE เบียร์สีทองที่มีบอดี้บาง ดื่มง่าย ก็เป็นอีกผลิตภัณฑ์หนึ่งที่ผลิตจากขนมปังใกล้หมดอายุและกากข้าวบาร์เลย์โดยขนมปังนั้น มีส่วนประกอบของน้ำ ธัญพืชและยีสต์ จึงสามารถนำมาหมักร่วมกับส่วนผสมอื่นๆ กลายเป็นเบียร์ ที่อาศัยกระบวนการผลิตกากใยที่มีไฟเบอร์และโปรตีนสูงจากข้าวบาร์เลย์ ถือเป็นโมเดลของการอัปไซเคิล และสร้างเศรษฐกิจอาหารหมุนเวียนที่มีส่วนช่วยลดปริมาณขยะซึ่งก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกได้

แคมเปญ Clear your Plate ของจีน นอกจากจะออกกฎให้กินอาหารให้หมดจานและห้ามถ่ายรูปอาหารจานโตโพสต์ลงในโซเชียลมีเดียแล้ว ยังสร้างแรงจูงใจด้วยการให้วัยรุ่นสแกนภาพจานที่กินจนเกลี้ยงจากมือถือ และใช้ระบบ AI ของรัฐประมวลผลเพื่อให้คะแนน เมื่อสะสมคะแนนได้ระดับหนึ่งสามารถนำแต้มไปแลกสิ่งของ เช่น โทรศัพท์มือถือหรือจะนำไปบริจาคให้คนอื่นได้

ในแต่ละปีองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ระบุว่า หนึ่งในสามของอาหารที่ผลิตได้ในโลกนี้ประมาณ 1.3 พันล้านตันกลายเป็นขยะที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นที่น่าปวดใจสำหรับบางประเทศที่ยังเต็มไปด้วยผู้คนที่อดอยากและขาดสารอาหาร

ประเทศไทย ยังไม่มีแคมเปญนี้อย่างเป็นรูปธรรม แต่ถ้าองค์กร หน่วยงาน หรือร้านอาหารร้านใดจะริเริ่มก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในยุคนิว นอร์มอล เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดขยะและสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้แก่โลก.