จุลชีพดื้อยาหรือการดื้อยาของเชื้อโรค (Antimicrobial resistance) เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตคน 25,000 รายในยุโรปแต่ละปี เป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน งานวิจัยหลายฉบับคาดการณ์ว่าจะเกิดภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ในระดับโลก ดังนั้น การพัฒนายาปราบเชื้อโรคที่ดื้อยาปฏิชีวนะจึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน หากไม่ได้รับการแก้ไขคาดว่าภายในปี พ.ศ.2593 อาจมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 10 ล้านคน เพราะติดเชื้อที่ดื้อยาปฏิชีวนะ

เมื่อเร็วๆนี้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ ในอังกฤษ ได้พัฒนาสารประกอบใหม่ที่ฆ่าแบคทีเรียที่ดื้อยาปฏิชีวนะทั้งแกรมบวกและแกรมลบ นักวิจัยอธิบายว่าแบคทีเรียแกรมบวกเป็นแบคทีเรียที่ย้อมติดสีม่วง และแบคทีเรียแกรมลบจะติดสีแดง โดยมีโครงสร้างผนังเซลล์ที่แตกต่างกัน แต่สารประกอบยาปฏิชีวนะชนิดใหม่สามารถผ่านผนังเซลล์ของแบคทีเรียทั้ง 2 แบบ และจับกับดีเอ็นเอได้ เนื่องจากสารประกอบจะเรืองแสงเมื่อสัมผัสกับแสง นักวิจัยสามารถติดตามการดูดซึมและผลกระทบต่อแบคทีเรียดื้อยาโดยใช้เทคนิคกล้องจุลทรรศน์ขั้นสูง

การพัฒนาสารประกอบใหม่นี้ นักวิจัยเชื่อว่าจะปูทางไปสู่การค้นพบวิธีรักษาใหม่ๆ สำหรับแบคทีเรียที่ดื้อยาปฏิชีวนะทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรียเอ็มอาร์เอสเอ (Methicilin Resistant Staphylococcus Aureus-MRSA) ที่เป็นแกรมบวก และเชื้ออี.โคไลที่เป็นแกรมลบ ทั้งนี้ แบคทีเรียแกรมลบจัดเป็นสายพันธุ์ที่ยากต่อการรักษา เพราะผนังเซลล์แบคทีเรียป้องกันไม่ให้ยาเข้าไปภายใน ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ติดเชื้อในกระแสเลือด และปอดบวม.

ภาพ : University of Sheffield