“อว.ไม่ควรถูกระราน หรือถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง เพราะการเมืองอยู่ไม่นาน แต่งาน อว.ต้องใช้เวลา 6 ปี หรือ 10 ปี จึงจะสำเร็จ เพราะเป็นงานวิจัย นวัตกรรม มีด็อกเตอร์กว่า 3 หมื่นคน มีมหาวิทยาลัยกว่า 150 แห่ง มีงบประมาณถึง 1.5 แสนล้านบาท เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่มาก ผมทำได้อย่างเดียวคือเข้ามาต่อยอด เพื่อสร้างอนาคตให้กับประเทศ”

คำพูดจากปาก ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวกับ “ทีมข่าวการอุดมศึกษา” ฉายให้เห็นภาพสะท้อนที่ชัดเจน ในการเร่งเครื่องงานของกระทรวง อว. เพื่อตอบโจทย์ของสังคมประเทศชาติโดยรวม

งานเร่งด่วนที่จะทำในฐานะฝ่ายการเมือง คือ เรื่องปากท้องของประชาชนที่ต้องมาก่อน คือเรื่อง “เศรษฐกิจเชิงนวัตกรรม” เพื่อนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างรายได้ให้กับประชาชนและชุมชน ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ผ่านโครงการ “การพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมชุมชนผ่านกลไกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาสังคม เพื่อเพิ่มศักยภาพและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่” มีเป้าหมายดำเนินการนำร่องใน 18 พื้นที่ทั่วประเทศ ประกอบด้วย 1.พื้นที่ทางวัฒนธรรมวิถีไทลื้อ อ.เชียงคำ จ.พะเยา 2.การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ 3.
การพัฒนาพื้นที่ย่านเมืองเก่าลำพูน จ.ลำพูน 4.การพัฒนาเมืองเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จ.แม่ฮ่องสอน 5.การเปิดพื้นที่ศิลปวัฒนธรรมการดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน จ.กาญจนบุรี 6.การพัฒนาพื้นที่วิถีชุมชนอาหารริมทางและการละเล่นพื้นบ้านฯ เมืองสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี 7.พื้นที่วิถีพหุวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาชุมชนเมืองปากเกร็ด จ.นนทบุรี 8. พื้นที่อนุรักษ์และพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยวเกาะสีชัง จ.ชลบุรี 9.การฟื้นทุนทางวัฒนธรรมชุมชนฯ กุฎีจีน กรุงเทพฯ

...

10. พื้นที่ทางวัฒนธรรมการผลิตผ้าทอมือย้อมครามและสีธรรมชาติสู่สากล จ.สกลนคร 11.การฟื้นฟูทางวัฒนธรรมชุมชนย่านเมืองเก่าเพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนเมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ 12.การพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมเมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี 13.การพัฒนาเมืองเก่าร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด 14.การฟื้นทุนทางวัฒนธรรมริมโขงเพื่อการท่องเที่ยวหนองคาย จ.หนองคาย 15. ชุมทางผลิตภัณฑ์สินค้าเชิงวัฒนธรรมภาคใต้เมืองทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช 16.การสร้างพื้นที่เศรษฐกิจทางวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวเมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต 17.พื้นที่พหุวัฒนธรรมกับการจัดหาทุนทางวัฒนธรรมชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวเมืองยะลา จ.ยะลา และ 18.การฟื้นทุนทางวัฒนธรรมการค้าชุมชนดั้งเดิมเพื่อการพัฒนาเมืองปัตตานี จ.ปัตตานี

“ไม่คิดเลยว่า อว.จะมีงานวิจัยและนวัตกรรมดีๆ ที่จะต่อยอดทางเศรษฐกิจให้ชุมชน เป็นการแปลงทุนวัฒนธรรมสู่สินค้าและบริการเชิงวัฒนธรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ยกตัวอย่าง ชุมชนแห่งหนึ่งขายไม้กวาดที่ใช้กวาดบ้านธรรมดาๆ ราคา 30 บาท แต่พอนักวิจัยลงไปช่วยชาวบ้านสามารถแปลงไม้กวาดจากราคา 30 บาท เป็นราคา 150 บาท ด้วยการเพิ่มลวดลายที่สวยงามลงบนด้ามไม้กวาด นักท่องเที่ยวมาซื้อเพื่อนำไปโชว์ เป็นต้น นี่คือเศรษฐกิจแนวใหม่ เชิงวัฒนธรรม ที่ใช้ฝีมือ นี่คือสิ่งที่จะต้องเร่งทำให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยจะขยายผลจาก 18 พื้นที่นำร่องออกไปอีก” รมว.อว.กล่าวถึงงานที่จะเร่งดำเนินการ

ที่สำคัญ รมว.อว. ยังให้ความสำคัญกับความเป็นอิสระของนักวิจัย โดยจะพยายามคลายล็อกกฎระเบียบของ อว.ที่ไม่สามารถทำให้นักวิจัยเป็นอิสระได้ “งานวิจัยและนวัตกรรม สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตคนและโลกได้ เพราะนวัตกรรมคือข้อยกเว้น ถ้า อว.ยังทำตามกฎระเบียบ นวัตกรรมจะไม่เกิด”

และวันที่ 1-4 ก.ย.นี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) จะจับมือ 133 องค์กรภาครัฐ เอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จัดงาน STARTUP THAILAND × INNOVATION THAILAND 2020 ภายใต้แนวคิด “Innovation in Time of Crisis : นวัตกรรมรับมือภาวะวิกฤติ” ถือเป็นมิติใหม่ของการจัดงานในรูปแบบโลกนวัตกรรมเสมือนจริง ครั้งแรกของประเทศไทย ที่ผนึกกำลังครั้งสำคัญของเหล่าสตาร์ตอัพและนวัตกรรมชั้นนำของไทย เข้ามาร่วมกันแสดงศักยภาพด้านนวัตกรรมของประเทศในการจัดงานเสมือนจริงให้ยิ่งใหญ่อย่างเต็มรูปแบบ เปิดให้เข้าชมฟรี!! ผ่านเว็บไซต์ https://stxite2020.nia.or.th/  พร้อมเปิดแพลตฟอร์มอีเวนต์ออนไลน์สู่ “โลกนวัตกรรมเสมือนจริง” ตอบโจทย์ยุคนิวนอร์มอล ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤติที่เกิดขึ้นทั่ว

“งานนี้อยากให้ทุกคนมาเพราะเป็นการสร้างมิติใหม่ด้านนวัตกรรมจากสตาร์ตอัพและนวัตกรรมของไทยที่นำมาใช้จริงในงาน และต่อยอดธุรกิจสตาร์ตอัพและนวัตกรรม ผ่าน 4 กิจกรรมหลัก อาทิ Virtual Forum งานสัมมนาออนไลน์ในรูปแบบเสมือนจริง เน้นเรื่องการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ประเทศ การหาคู่ค้าทางธุรกิจนวัตกรรม เป็นต้น” รมว.อว.กล่าว

“ทีมข่าวอุดมศึกษา” เห็นด้วยกับ ศ.ดร.เอนก ที่มองว่า ไม่ควรนำเรื่องการเมืองเข้ามาแทรกแซงการทำงานของ อว.เพราะโลกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากจากเทคโนโลยี นวัตกรรม เมื่อโลกปรับ คนต้องเปลี่ยน

ทุกวันนี้สิ่งที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ คือ ปากท้องของประชาชน เป็นปัญหาเร่งด่วน ต่อให้งานวิจัยดีแค่ไหน แต่ไม่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ก็ไร้คุณค่าและความหมาย

เพราะงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่จะตอบโจทย์ประเทศนั้น สำคัญที่สุดคือ ต้องกินได้และทำให้ประชาชนอิ่มท้อง.

ทีมข่าวอุดมศึกษา