สูตินรีแพทย์ เผยหลังฉีด "วัคซีนมะเร็งปากมดลูก" ต้องสังเกตอาการแพ้ เหมือนตัวยาทั่วไป พบโอกาสเสี่ยงแพ้ ถึงเสียชีวิต 3 ในล้านคน 

จากกรณี ด.ญ.วัย 11 ปี เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก โดยทางโรงเรียนเป็นผู้จัดหาให้ ซึ่งระหว่างนั้น เด็กมีไข้สูง 39 องศาฯ แต่ก็ยังฉีดวัคซีนให้ จนเด็กมีการอาเจียน แน่นหน้าอก พาไป รพ. หมอตรวจหาไข้เลือดออก แต่ไม่พบ จึงให้กลับมาพักฟื้น กระทั่งอาเจียนหนัก จนฟุบและเสียชีวิตในห้องน้ำ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น (อ่านต่อ : พ่อใจสลาย ลูกสาว 11 ขวบเสียชีวิต หลังโรงเรียนฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก)

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เฟซบุ๊กเพจ "เรื่องเล่าจากโรงหมอ" ของสูตินรีแพทย์ ได้โพสต์ถึงวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ว่า วัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV หลักๆ คือ ชนิด 16 18 ซึ่งส่วนใหญ่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อชนิดนี้ เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกกว่า 70%

นอกจากนั้น ยังช่วยป้องกันมะเร็งที่เกิดจากการติดเชื้อชนิดนี้ เช่น มะเร็งอวัยวะเพศชาย ทวารหนัก ลำคอ และกลุ่มโรคหูดหงอนไก่ต่างๆ ได้ด้วย

การฉีดจะได้ผลดีมาก ในกลุ่มอายุน้อย ก่อนมีเพศสัมพันธ์ ทั้งชายและหญิง แนะนำในช่วงอายุ 9-26 ปี ถ้าอายุเกินจากนี้ ก็สามารถฉีดได้ แต่ใครจะไม่ฉีดก็ได้

ทั้งนี้ ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปากมดลูกในไทย อัตราการเกิดคร่าวๆ คือ 20 ต่อแสน สูงเป็นอันดับสองของโรคมะเร็งในผู้หญิง รองจากมะเร็งเต้านม ตอนนี้มีผู้ป่วยใหม่ปีละประมาณหมื่นคน และตายปีละ 5,200 คน เราจึงพยายามลดอัตราการเกิดคนไข้ใหม่โดยส่งเสริมการคัดกรองโรค และป้องกันโรคโดยไปต่อรอง จัดซื้อวัคซีนมะเร็งปากมดลูกที่ขายกันแพงๆ เข็มละเกือบสามพัน มาได้ในราคาเหมาเหลือเข็มละไม่กี่ร้อย เพื่อฉีดให้กับเด็กๆ ชั้นประถม ปีละประมาณ 400,000 คน ซึ่งไทยเป็นประเทศที่ไม่ร่ำรวยหนึ่งในไม่กี่ประเทศ ที่ให้การสนับสนุนวัคซีนนี้ฟรี (เฉพาะกับเด็กๆ ในช่วงชั้นที่กำหนด)

...

สรุปคือ การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เป็นเรื่องที่ดี แต่ทุกเรื่องก็มีความเสี่ยง และจำเป็นต้องสังเกตอาการหลังฉีด เช่นเดียวกับการให้ยาทุกชนิด ตัววัคซีนเองถือว่าปลอดภัยมาก ผลข้างเคียงหลังฉีดที่เจอบ่อยคือ เจ็บแขน ไข้ต่ำๆ ปวดหัว คลื่นไส้ เวียนหัว ที่แพ้มาก แบบ anaphylaxis อันตรายถึงชีวิตมีโอกาสเกิด 3 ใน 1,000,000 (ref CDC) อัตราการเกิดผลข้างเคียงรุนแรงอื่น หรือเสียชีวิตจากยาจริงๆ ก็ต่ำมากๆ

ถ้าหลังฉีดมาอาการเวียนหัว หน้ามืด ใจเต้นแรง สับสนกระวนกระวาย หมดสติ หรือหายใจไม่ออก แน่นหน้าอก ต้องได้รับการประเมิน และให้การรักษาโดยแพทย์ทันที

ที่มาจาก เฟซบุ๊ก เรื่องเล่าจากโรงหมอ