หนังสือกรณีกระฉ่อนโลกในอดีต (สำนักพิมพ์แสงดาว ธนานันท์ วงศ์บางพลู แปล พ.ศ.2563) หนึ่งในหลายเล่ม ที่คุณจรัญ หอมเทียนทอง ส่งมาให้ ผมเลือกอ่าน กรณีประหารชีวิตโซเครตีส ต้นแบบเหยื่อทางการเมือง ราว พ.ศ.255) ก่อน

ในเมืองเอเธนส์ที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย โซเครตีส เจอข้อหาปลูกฝังความคิดเยาวชนคนหนุ่มสาวให้คิดใหม่ โดยไม่ติดกับความเชื่อเก่าๆที่เคยปลูกฝังกันมา

ยังมีข้อหากรณีหกนายพลรบทางเรือชนะทัพสปาร์ตา กลับมาแต่เจอข้อหา ทิ้งลูกเรือให้จมทะเลตายโดยไม่เหลียวแล สภาเอเธนส์ลงโทษประหารชีวิต

โซเครติสเป็นเสียงเดียวที่คัดค้าน เขาเชื่อว่าหกนายพลไม่มีทางเลือก

ข้อหาการเมือง สังคมเหล่านี้ เป็นข้อหาสะสมเป็นสถานเบา ข้อหาหนักของเขาคือ หลบหลู่พระเจ้า

คณะลูกขุนพิจารณาข้อหาเป็นภัยต่อจารีตประเพณี ที่สังคมเอเธนส์นับถือเป็นเวลานาน แล้วตัดสินให้ประหารชีวิตโซเครตีส ด้วยการให้ดื่มยาพิษ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ 399 ปีก่อนคริสต์ศักราช

คนรุ่นหลังอ่านประวัติศาสตร์ตอนนี้ วิจารณ์ว่า ทุกข้อหาไร้หลักฐาน ไม่เกินสติปัญญาปราชญ์ผู้ชาญฉลาดจะแก้ต่างให้หลุด แต่เมื่อเป็นข้อหาทางการเมืองที่คณะปกครองตั้งธงไว้

ทั้งการกำจัดโซเครตีส ยังจะสามารถกำจัดศัตรูทางการเมือง

แถมด้วยคะแนนจากชาวเอเธนส์ที่โกรธแค้น ในเชิงการเมือง ในสถานการณ์นี้ โซเครติสคือแพะบูชายัญ

ข้อหาที่ดูหนักหนาเหล่านี้ยังมีช่องออก หากโซเครตีสเอ่ยปากยอมรับผิด

และแม้โซเครตีสจะไม่หลุดปากรับผิด แต่ทางออกทางสังคมยังมี เขามีเพื่อนฝูงเป็นผู้มีอำนาจทางการเมือง พ่อค้าที่มีเงิน...มากมาย ทุกคนต่างก็เสนอตัวมาช่วย ให้เขาหนี

แต่โซเครตีสไม่หนี เขาบอกว่า ถ้าหนี ผู้ที่ช่วยเหลือเขาก็จะเดือดร้อน ทั้งการไม่ยอมรับระบบการปกครอง ศัตรูทางการเมืองก็จะได้ทีโจมตีซ้ำ เขาไม่ใช่นักอุดมการณ์ที่ซื่อตรงมั่นคงแต่ประการใด

...

ในบันทึกชื่อ “ฟีโด” ซึ่ง “เพลโต” เขียนไว้ วันสุดท้าย คือวันประหาร โซเครติสมีอายุได้ 70 ปี เขาอยู่ท่ามกลางความโศกเศร้าของเหล่าศิษย์และมิตรสหาย

โซเครตีสสนทนากับคริโต สหายสนิทคนหนึ่งว่า เขาต้องการให้การประหารชีวิตเขาเป็นบทเรียนบทสุดท้าย สอนศิษย์ให้ทบทวนคำสอน...สิ่งใดถูก สิ่งใดผิด

และหากเขายอมรับการช่วยเหลือให้หนี คำสอนทั้งหมดของเขาก็จะไร้ความหมาย

ได้เวลา ผู้คุมนำยาพิษให้โซเครตีสดื่ม เขาก็ดื่มจนหมดถ้วย แล้วเริ่มเดินไปมารอบห้อง จนยาพิษออกฤทธิ์เขาเริ่มหมดแรง ก็นอนราบลงบนเตียง

ก่อนวาระสุดท้าย โซเครตีสเลื่อนผ้าห่มคลุมใบหน้า บอกคริโตว่า “เราติดหนี้ไก่ตัวหนึ่งกับอัสคลีปิอุส ช่วยจัดการใช้หนี้ให้เราด้วย”

“อัสคลีปิอุส” เป็นชื่อเทพเจ้าแห่งการเยียวยารักษา คำพูดนี้กลายเป็นปริศนาให้ตีความกันว่า โซเครตีสพูดจริงเพราะความนับถือ หรือพูดเล่นเป็นเชิงเย้ยหยัน จนบัดนี้ยังไม่มีใครคลี่ปริศนานี้ได้เลย

วิถีชีวิตแบบโซเครตีสเป็นที่มาของสำนวน “เตะปะฏัก” ในคำภีร์ไบเบิล มีคำสอน “สูเจ้าเตะปะฏักนั้นลำบาก” ในนิยายสามก๊ก ล่อกวนตง เขียนถึงจิวยี่ แพ้ขงเบ้งสิ้นท่าว่า “ผู้ถ่มน้ำลายรดฟ้า”

ใครไม่ว่าคนรุ่นเก่า หรือรุ่นใหม่ที่ต้องใช้สำนวนนี้ มีความหมายต่อเนื่องว่า ผู้แพ้ภัยตัวเอง.

กิเลน ประลองเชิง