อ.ธรณ์ เผยปลาดุกที่คนนิยมปล่อยลงแม่น้ำลำคลองเป็น "ปลาดุกบิ๊กอุย" กินจุ โตเร็ว ตัวใหญ่ ไล่กินปลาตัวเล็ก แทบไม่มีศัตรูทางธรรมชาติ แนะสายบุญจำ 4 ข้อให้ขึ้นใจ
จากกรณี ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลาน้ำจืด โพสต์เฟซบุ๊ก Nonn Panitvong ให้ความรู้เรื่องผลกระทบของ "ปลาดุก" ต่อระบบนิเวศว่า ปลาดุก 1 ตันกินสัตว์น้ำประมาณ 1,800,000 ตัวต่อปี ซึ่งมีคนแชร์ออกไปเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ได้สอบถามไปยัง ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถึงกรณีดังกล่าว เปิดเผยว่า ปลาดุกที่คนซื้อไปปล่อยส่วนใหญ่เป็น "ปลาดุกบิ๊กอุย" เป็นพันธุ์ผสมระหว่าง "ปลาดุกอุย" ของไทยกับ "ปลาดุกรัสเซีย" จะได้ปลาดุกที่ตัวใหญ่
เดิมทีประเทศไทยมีปลาดุก 2 พันธุ์คือ ปลาดุกด้าน ตัวจะเล็ก กับ "ปลาดุกอุย" ตัวจะใหญ่กว่า คนจึงนิยมกินกัน แต่ต่อมารู้สึกว่าปลาดุกอุยยังถือว่าตัวเล็ก จึงนำไปผสมกับ "ปลาดุกรัสเซีย" กลายเป็น ปลาดุกบิ๊กอุย มีการเลี้ยงกันมา 20 ปีแล้ว
แต่ปัจจุบันมีปลาดุกอื่นมาผสมอีก จนตอนนี้ไม่ใช่แค่บิ๊กอุยอย่างเดียวแล้ว ประกอบกับปลาดุกเป็นปลาที่กินไม่เลือกตั้งแต่ต้นแล้ว เมื่อผสมกันจึงยิ่งทำให้มีขนาดใหญ่ กินจุ โตไว นิยมเลี้ยงไว้เพื่อขาย
...
เมื่อคนนำปลาดุกเหล่านี้ไปปล่อยลงในแม่น้ำลำคลอง จึงทำให้เกิดปัญหา คือ ด้วยความที่ตัวใหญ่กว่าปกติจึงแทบไม่มีปลาที่มีขนาดใหญ่กว่าตามธรรมชาติมากิน และตามปกติแล้ว ลูกปลาดุกที่เกิดตามธรรมชาติระหว่างการเจริญเติบโตอาจจะโดนปลาขนาดใหญ่กินได้
ต่างจากปลาดุกที่คนซื้อไปปล่อยจะเป็นปลาดุกแบบโตเต็มวัย มีการปล่อยครั้งละเป็นหลักพันตัว หมื่นตัว จึงไม่มีปลาอื่นมากินได้ ปลาท้องถิ่นก็จะถูกกินแทน เปรียบเหมือนคนเราอยู่ในหมู่บ้าน อยู่ดีๆ ก็มีตัวประหลาด มีซอมบี้บุกเข้ามาเป็นพันตัว หมื่นตัว ซึ่งคนเราไม่สามารถสู้ได้
สำหรับคนที่อยากทำบุญปล่อยสัตว์น้ำ ผศ.ดร.ธรณ์ แนะนำว่า การลดถุงพลาสติกก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการช่วยสัตว์น้ำให้รอดตาย ไม่ต้องปล่อยสัตว์น้ำ แต่เลือกที่จะไม่ฆ่าเขาแทน แต่หากต้องการปล่อยสัตว์น้ำจริงๆ ต้องคำถึง 4 ข้อคือ 1.ปลาเล็ก 2.ปลากินพืช 3.ปล่อยครั้งละน้อยๆ และ 4.เลือกปล่อยปลาท้องถิ่น หากทำได้ตามนี้ก็จะไม่มีปัญหาตามมา.