นักวิชาการแนะ ทำบุญอย่าปล่อย "ปลาดุก" ชี้ปลาดุกส่วนใหญ่ เป็นปลาดุกบิ๊กอุย กินพืชและสัตว์น้ำ กินปลาเล็กไม่เลือก ตั้งสมมติฐานชี้ภาพ กระทบระบบนิเวศ 

ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศน้ำจืด ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก  "Nonn Panitvong" เกี่ยวกับการปล่อยปลาอย่างไรให้ได้บุญ เนื่องจากหลายคนนิยมทำบุญด้วยการปล่อยปลาดุก โดยระบุว่า ปลาดุกที่นิยมเลี้ยงเพื่อนำมาเป็นอาหารในปัจจุบัน เป็นปลาดุกลูกผสม ที่เกิดจากปลาดุกยักษ์จากทวีปแอฟริกาและปลาดุกอุย ลูกปลาที่เกิดมา มีชื่อเรียกทางการค้าว่า ปลาดุกบิ๊กอุย ได้ปลาที่โตเร็ว เนื้อดีพอสมควร และเป็นหมัน การใช้ประโยชน์คือ นำมาบริโภค

ปัจจุบันมีผู้นิยมนำปลาดุกบิ๊กอุย ไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อทำบุญ แต่การกระทำดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่นั้นๆ โดยปลาดุก กินอาหารวันละ 5% ของน้ำหนักตัว โดยกินทั้งพืชและสัตว์ ปริมาณที่เท่าๆ กัน ซึ่งปลาดุกที่ปล่อยจะมีน้ำหนักประมาณ 3 ตัว ต่อ 1 กิโลกรัม และจะถูกนำไปปล่อยลงแหล่งน้ำที่สมบูรณ์มีอาหารให้กิน

ยกตัวอย่าง หากต้องการปล่อยปลาดุก 1,000 กิโลกรัม คิดเป็นปลาดุกประมาณ 3,000 ตัว ปลาดุก 1,000 กิโลกรัม จะกินอาหารวันละ 50 กิโลกรัม ในอาหาร 50 กิโลกรัมนี้เป็นสัตว์ครึ่งหนึ่ง ดังนั้น คิดเป็นสัตว์น้ำหนักรวม 25 กิโลกรัม หรือ 25,000 กรัม

ปลาดุกตัวขนาดนี้ สัตว์น้ำท้องถิ่นอย่าง ลูกปลาบู่ ลูกปลาตะโกก ลูกปลาตะเพียน ปลาซิว กุ้งฝอย และหอยขม ที่กินได้พอดีๆ คำ จะตัวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ก็จะหนักไม่เกิน 5 กรัม ดังนั้น ปลาดุก 3,000 ตัว ที่ปล่อยไปนี้ ถ้าต้องการมีชีวิตที่ดี ก็ต้องกินสัตว์น้ำอื่นๆ ไปวันละ 5,000 ตัว หรือปีละ 1,800,000 ชีวิต

...

ซึ่งนี่เป็นการคำนวณแบบง่ายๆว่า ปลาดุกไม่ได้โตขึ้น แต่ในความเป็นจริง กินไปโตไปก็จะกินเยอะขึ้นเรื่อยๆ หรือถ้าระบบนิเวศแถวนั้นมันเสื่อมโทรม ปลาดุกที่ถูกเอามาปล่อยให้สู้ชีวิตด้วยตัวเอง หาอาหารกินไม่ได้ ก็อาจจะอดตายไปอย่างทรมานก็ได้

สรุปด้วยสมมติฐานดั้งเดิมว่า การปล่อยปลาดุก 1 ตัน เราจะสูญเสียสัตว์น้ำท้องถิ่นไปประมาณ 1.8 ล้านชีวิตต่อปี ในจำนวนนี้อาจจะเป็นลูกปลาเศรษฐกิจ ปลาหายาก หรือ ปลาท้องถิ่น ลองนึกภาพ อยู่ในบ้านดีๆก็มีใครไม่รู้เอาเสือ เอาสิงโต มาปล่อยลงไปในหมู่บ้านคุณเพื่อทำบุญ โดยคุณไม่มีทางที่จะสู้ 

นอกจากนี้ ดร.นณณ์ ยังตอบคำถามของโซเชียลด้วยว่า หากไม่ปล่อยปลาดุกแล้ว จะให้ปล่อยอะไร ระบุว่า ส่วนตัวตนมองว่าไม่ต้องปล่อยอะไร ปลาเป็นสิ่งมีชีวิตที่ออกลูกคราวละมากๆ อยู่แล้ว ถ้าระบบนิเวศสมบูรณ์ ปลาเพิ่มจำนวนจนเต็มพื้นที่เร็วมาก ดังนั้นถ้าอยากช่วยปลา ช่วยกันดูแลคุณภาพให้ดี อย่าทิ้งขยะลงในน้ำ ช่วยกันต่อต้านโครงการทำลายระบบนิเวศในน้ำอย่างการ สร้างเขื่อน สร้างฝาย ขุดตลิ่ง ทำให้ปลามีที่อยู่ที่ดี เดี๋ยวก็เพิ่มจำนวนและชนิด ตามความเหมาะสมของระบบนิเวศเอง.

ที่มาจาก เฟซบุ๊ก Nonn Panitvong