แนะวิธีเอาตัวรอด เมื่อเจอกับสถานการณ์น้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ทำอย่างไรจึงหนีออกมาได้อย่างปลอดภัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากผลกระทบจาก "พายุซินลากู" เกิดฝนตกหนักติดต่อกันในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากทะลักเข้าท่วมบ้านเรือประชาชนได้รับความเสียหายนั้น

ทั้งนี้พบว่า แฟนเพจ กองปราบปราม ได้แนะ 10 วิธีเอาตัวรอด จากอุทกภัย น้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก วิธีการป้องกันตนเองและสิ่งของต่างๆ หากต้องเผชิญกับเหตุการณ์อุทกภัยที่จะทำอย่างไรให้สามารถหนีออกมาได้อย่างปลอดภัย ดังนี้

1. ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
2. ทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่
3. เตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ
4. ร่างกายต้องอบอุ่น
5. สังเกตปริมาณน้ำให้ดี
6. ตัดสะพานไฟในบ้าน
7. ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะเวลาฝนตก
8. ระวังเชื้อโรคที่มากับน้ำ
9. ระวังสัตว์มีพิษให้ดี
10. เตรียมอาหารให้พร้อม

ที่สำคัญเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เราจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองและคนรอบข้างมาก่อนเป็นอันดับแรก มากกว่าการห่วงของมีค่าต่างๆ

เช่นเดียวกับแฟนเพจ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ-สพฉ.1669 แนะนำวิธีปฏิบัติตัวเมื่อเจอกับ น้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลาก โดยระบุว่า ในกรณีที่เกิดพายุ ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยจะต้องฟังประกาศเตือนภัย และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และต้องเตรียมการในเบื้องต้นเพื่อระวังภัยโดยการตรึงประตู หน้าต่าง ให้มั่นคง ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรขณะฝนตกฟ้าคะนอง เตรียมอุปกรณ์จำเป็น เช่น เทียนไข ไฟฉาย ยาประจำตัวติดตัวตลอด ขณะฝนตกฟ้าคะนอง ห้าม อยู่ใต้ต้นไม้ เสาไฟ และห้ามโทรศัพท์ เด็ดขาด

...

ส่วนกรณีหากเกิดดินโคลนถล่มเพราะฝนตกหนักให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงสังเกตสัญญาณเตือนภัยของเหตุดินโคลนถล่ม เช่น เสียงต้นไม้หัก หินก้อนใหญ่ตกลงมา น้ำมีสีขุ่น ให้อพยพไปในพื้นที่สูงและมั่นคง หากพลัดตกน้ำ หาต้นไม้ใหญ่เกาะ รีบขึ้นจากน้ำให้ได้ หากหนีไม่ทัน ให้ม้วนตัวเป็นทรงกลม ให้มากที่สุด เพื่อป้องกันศีรษะกระแทก

การป้องกันเหตุน้ำป่าน้ำท่วมฉับพลันประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยต้องรีบอพยพขึ้นที่สูง โดยหลีกเลี่ยงแนวธารน้ำ ช่องระบายน้ำ สวมเสื้อชูชีพ ห้ามเดินฝ่ากระแสน้ำ และใช้ไม้ปักดินคลำทาง เพื่อสังเกตว่าดินตื้นลึกแค่ไหน

ห้ามขับรถฝ่ากระแสน้ำท่วม และหากถ้าน้ำขึ้นสูงรอบๆ รถ ให้รีบออกจากรถ อย่าเสี่ยงช่วยผู้อื่นหากอุปกรณ์ไม่พร้อม เพราะอาจไม่รอดทั้งคู่ และสิ่งที่สำคัญในทุกเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เราต้องดูแลเป็นพิเศษคือเด็กเล็กเพราะอาจเสี่ยงต่อการจมน้ำได้ง่าย ซึ่งในทุกกรณีเมื่อพบผู้บาดเจ็บจะต้องรีบโทรแจ้งสายด่วนฉุกเฉิน 1669 หากพบผู้บาดเจ็บ.

(ภาพและข้อมูลจาก แฟนเพจ กองปราบปราม, สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ -สพฉ.1669)