สตช. - อย. แถลงผลการตรวจสอบแหล่งขายยา อาหาร และเครื่องสำอางปลีก-ส่ง ย่านประตูน้ำ กรุงเทพฯ พบเป็นสถานที่ขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต และพบการขายยา อาหาร และเครื่องสำอางผิดกฎหมายจำนวนมาก อาทิ ยาไม่มีทะเบียนตำรับ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสวมเลข อย. /ไม่มีเลข อย. บางรายการเคยตรวจพบสารไซบูทรามีน และเครื่องสำอางที่ไม่มีเลขจดแจ้ง ซึ่ง อย. เคยแจ้งเตือนประชาชนแล้ว จึงทำการยึดของกลางรวมมูลค่ากว่า 2 แสนบาท
เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยพลตำรวจโท เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานปราบปรามผลิตภัณฑ์และการบริการ ด้านสุขภาพที่ผิดกฎหมาย พร้อมด้วยพลตำรวจตรี ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.พานทอง สุวรรณจูฑะ รอง ผบก. ภ.จว.มหาสารคาม หัวหน้าส่วนอำนวยการ และ พ.ต.อ.ภาส สิริสุขะ รอง ผบก.ตม.3 หัวหน้าส่วนปฏิบัติการ, พ.ต.อ.ชนันนัทธ์ สารถวัลย์แพศย์ ผกก.4 บก.ปคบ. รองหัวหน้าส่วนปฏิบัติการ, พ.ต.ต.ทรงวุฒิ ใจดีจริง สว.กก.4 บก.ปคบ., ร.ต.อ.ทัศพงษ์ ผ่องใส รอง สว.กก.4 บก.ปคบ. พร้อมชุดปฏิบัติการที่ 5 กก.4 บก.ปคบ. พร้อมสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข โดยนายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมด้วย เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการตรวจสอบจับกุม แหล่งขายยา อาหาร เครื่องสำอางปลีก - ส่ง ผิดกฎหมาย ย่านประตูน้ำ ดังนี้
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้รับเรื่องร้องเรียนการขายยา อาหาร และเครื่องสำอางโดยไม่ได้รับอนุญาตในร้านค้าปลีก - ส่งแห่งหนึ่งย่านประตูน้ำ จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบการกระทำที่เข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมาย จึงได้ประสานกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (กก.4 บก. ปคบ.) ทำการสืบสวนจนพบบริษัท โทฟู สกินแคร์ จำกัด (TOFU SKINCARE CO.,LTD.) เลขที่ 645/17 ซอยเพชรบุรี 13 แขวงพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ผลการตรวจสอบ พบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ทั้ง ยา อาหารและเครื่องสำอางเป็นจำนวนมาก แบ่งเป็น
1. การขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต และขายยา/ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่มีทะเบียนตำรับ ดังนี้
1.1 ยาไม่มีทะเบียนตำรับยา เช่น ACORBIC® (C-1000 mg), ACORBIC® ( Extra C)
1.2 ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่มีทะเบียนตำรับ เช่น สมุนไพรกระชับช่องคลอด ฉลากระบุ แก้ตกขาว แก้คัน เชื้อรา, ฟ้าทะลายโจร สมุนไพรพรหมรังสี ฉลากระบุ แก้ไข้ แก้ไอ เจ็บคอ ลดความดันสูง แก้เบาหวาน
1.3 ยามีทะเบียนตำรับยา เช่น กลุ่มยาควบคุมพิเศษ Sidegra 50mg (sildenafil 50 mg), กลุ่มยาอันตราย เช่น NOXA 20 (piroxicam 20 mg), Setin (Cetirizine 10 mg)
รวมของกลางยาจำนวน 58 รายการ (2,869 กล่อง)
2. การขายเครื่องสำอางที่ไม่มีเลขจดแจ้ง ไม่มีฉลากภาษาไทย และอาจเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ เช่น หมอยันฮี ชุดครีมบำรุงผิวหน้า กล่องฟ้า, ชมพู, เขียว, DR.วุฒิ-ศักดิ์ ชุดครีมบำรุงผิวหน้า หมอวุฒิศักดิ์ เชอรี่+วอตามอน+กลูต้า, WHITE NANO, แป้ง โรลออน Body spray
รวมของกลางเครื่องสำอางจำนวน 14 รายการ (788 กล่อง)
3. การขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารปลอม /แสดงฉลากไม่ถูกต้อง และอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เช่น ลดน้ำหนัก ลดพุง สูตรเร่งรัด ผิวขาวใส กำจัดสารพิษตกค้าง สูตรระเบิดไขมัน สูตรสำหรับคนดื้อยา ดังนี้
3.1 กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่แสดงฉลากเพื่อลวง โดยใช้เลขสารบบอาหารปลอม เช่น สมุนไพรลดหน้าท้อง Abdomen Slim, สมุนไพรลดแขน SLIM PERFECT ARM, สมุนไพรอัพไซส์ สูตรเร่งรัด Bigger BooBs Breast Enhancer, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Sexy Boom, Idol Berry Plus
3.2 กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ไม่มีเลขสารบบอาหาร เช่น Vitaccino, DETOX SLIM COFFEE, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเยสเด้, Gluta Prime Plus+ 2,000,000 MG
3.3 กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารปลอม โดยแสดงเลขสารบบอาหารผลิตภัณฑ์อื่น เช่น APPLE SLIM DIET, อาหารเสริมลดน้ำหนัก CA NI SLIM BALANCE, กาแฟปรุงสำเร็จชนิดผง ไอดอล สลิม คอฟฟี่ IDOL SLIM COFFEE, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับผิวขาว GLUTA BERRY 200000 MG
รวมของกลางผลิตภัณฑ์อาหาร จำนวน 47 รายการ (5,763 กล่อง/ขวด)
เจ้าหน้าที่ได้ยึดของกลางผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาหาร และเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมายทั้งหมด 119 รายการ จำนวน 9,420 กล่อง/ขวด คิดเป็นมูลค่ากว่า 200,000 บาท และตั้งประเด็นความผิด ดังนี้
1. พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510
1.1 ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท
1.2 ขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. พระราชบัญญัติสมุนไพร พ.ศ. 2562
ขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ขึ้นทะเบียนตำรับ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
3. พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558
3.1 ขายเครื่องสำอางที่ไม่มีการแสดงข้อความภาษาไทยและมีการแสดงฉลากภาษาไทยไม่ครบถ้วน มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3.2 ขายเครื่องสำอางที่มิได้จดแจ้ง มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
และหากผลการตรวจวิเคราะห์พบสารห้ามใช้ซึ่งจัดเป็นเครื่องสำอางไม่ปลอดภัยในการใช้ตามมาตรา 28 (4) จะเข้าข่ายการขายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522
4.1 ขายอาหารปลอมที่มีการแสดงฉลากเพื่อลวง มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 บาทถึง 100,000 บาท
4.2 ขายอาหารที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
และหากผลการตรวจวิเคราะห์พบไซบูทรามีน จะมีความผิดฐานขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปีถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 400,000 บาทถึง 2,000,000 บาท ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 อีกด้วย
พลตำรวจโท เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มอบหมายให้คณะทำงานปราบปรามผลิตภัณฑ์และการบริการด้านสุขภาพที่ผิดกฎหมายดำเนินการสืบสวนเรื่องดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เนื่องจากสถานที่แห่งนี้อยู่ในย่านค้าปลีก - ส่ง สินค้า ซึ่งมีผู้แวะเวียนในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก หากพ่อค้าแม่ค้าซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปขายต่ออาจทำให้ประชาชนจำนวนมากได้รับอันตราย และจะขยายผล เพื่อจับกุมผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป โดยการทำงานของคณะทำงานชุดนี้จะเน้นย้ำให้จับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่ว่าจะเป็นการผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ และประสานการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน โดยมี กก.4 บก.ปคบ. และ อย. เป็นหน่วยงานหลักในการลงพื้นที่เพื่อทำการสืบสวนและจับกุมผู้กระทำความผิดพร้อมดำเนินการตามกฎหมายให้ถึงที่สุด และขอเตือนผู้ผลิต นำเข้าและจำหน่าย ขอให้ประกอบการอย่างมีคุณธรรม อย่าเห็นแก่ผลกำไร หรือหลอกลวงผู้บริโภคไม่ว่าจะช่องทางใดก็ตาม หากตรวจพบจะต้องถูกดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างเด็ดขาด
นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวต่อไปว่า อย. และ สตช. ให้ความสำคัญและเร่งรัดจัดการปัญหาการผลิต/นำเข้า/จำหน่ายสินค้าที่ผิดกฎหมายเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยทำงานร่วมกับ กก4.บก.ปคบ. มาโดยตลอด และจากการตรวจสอบในครั้งนี้พบมีการขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ขายยา/ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่มีทะเบียนตำรับ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีการแสดงฉลากเพื่อลวง โดยแสดงเลขสารบบอาหารปลอม หรือไม่มีเลขสารบบอาหาร อวดอ้างสรรพคุณการลดน้ำหนัก และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ไม่มีเลขจดแจ้งและไม่มีฉลากภาษาไทย และอาจเป็นเครื่องสำอางไม่ปลอดภัยในการใช้ โดยเฉพาะเครื่องสำอางที่ฉลากระบุชื่อ "หมอยันฮี ชุดครีมบำรุงผิวหน้า" ที่พบข้างต้นนั้น อย. และ กก4.บก.ปคบ.ได้เคยเข้าทลายแหล่งผลิตเครื่องสำอางที่ใช้ชื่อดังกล่าว เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2561 ซึ่งศาลจังหวัดมีนบุรีได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562 ลงโทษผู้ผลิตเครื่องสำอางโดยตัดสินให้จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน 15 วัน ปรับคนละ 150,000 บาท
นอกจากนี้แล้ว ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางรายการ เช่น Idol Slim Apple, Idol Slim Coffee, Idol Slim Plus หรือ Idol Berry Plus อย. ได้เคยแจ้งเตือนภัย และเป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มเสี่ยงที่ไม่ควรบริโภคอย่างยิ่ง เนื่องจากพบการสวมเลขสารบบอาหารของผลิตภัณฑ์อื่น เข้าข่ายเป็นอาหารปลอม และเคยมีผลตรวจวิเคราะห์พบสารไซบูทรามีน ซึ่งปัจจุบันจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ผู้ใดผลิตหรือผู้ขายจะได้รับโทษหนักมาก จำคุกสูงสุด 20 ปี และปรับสูงสุดถึง 2,000,000 บาท โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้ อย. และ กก4.บก.ปคบ. ได้เคยจับกุมผู้ผลิตรายใหญ่ไปแล้วเช่นกัน เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 จึงฝากเตือนไปยังผู้ประกอบการที่ยังลักลอบผลิต นำเข้าหรือขายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายว่า อย.และ สตช.จะผนึกกำลัง สืบสวนขยายผลหาผู้กระทำผิดเพิ่มเติม และหากตรวจพบจะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด
เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวในตอนท้ายว่า ทั้งนี้ อย. ขอเตือนผู้บริโภค ก่อนซื้อยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาหาร เครื่องสำอาง ควรตรวจสอบข้อมูลอนุญาตทาง Oryor Smart Application หรือเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th ก่อนทุกครั้ง และอย่าทำร้ายตัวเองด้วยการหลงเชื่อโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณที่เกินไปจากความเป็นอาหารหรือเครื่องสำอาง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีการโฆษณาเรื่องลดน้ำหนัก เห็นผลจริง ปลอดภัย ระเบิดไขมันต่าง ๆ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มักพบการลักลอบใส่ยาลดความอยากอาหาร โดยเฉพาะยาไซบูทรามีน ซึ่งผลข้างเคียงที่พบบ่อย ได้แก่ ความดันโลหิตสูง หัวใจ เต้นเร็ว ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับและท้องผูก และจะเป็นอันตรายมากโดยเฉพาะกับกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยที่ควบคุมความดันโลหิตได้ไม่ดี ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ ผู้ป่วยโรคตับ ผู้ที่มีโรคต้อหิน รวมไปถึงหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร และอาจส่งผลให้โรคประจำตัวที่เป็นอยู่มีอาการแย่ลงหรือเกิดผลข้างเคียงจนถึงแก่ชีวิตได้ ส่วนเครื่องสำอางที่มีการโฆษณาสรรพคุณขาวภายใน 7 วัน ขาวนีออน ขาวออร่า ลดสิว ฝ้า กระ จุดด่างดำ รอยสิว ริ้วรอย มักพบว่ามีสารห้ามใช้ เมื่อใช้ไประยะหนึ่ง ผิวที่ดูขาวจะกลายเป็นดำคล้ำ เป็นฝ้าถาวร หรือเป็นแผลเป็นถาวร ไม่สามารถรักษาให้หายได้ นอกจากนี้การเลือกซื้อยา ควรซื้อจากร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำร้าน อย่าซื้อยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่มีทะเบียนตำรับ หรือซื้อจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ เช่น ตลาดนัด แผงลอย เพราะอาจได้รับยาไม่มีคุณภาพมาตรฐาน ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว อาจทำให้เกิดการแพ้ยา และเสียโอกาสในการได้รับการรักษาที่ถูกต้องและ ตรงกับโรค
ขอให้ประชาชนช่วยกันเป็นหูเป็นตา หากพบการลักลอบผลิต นำเข้า จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาที่สายด่วน อย. 1556 หรือที่อีเมล์ 1556@fda.moph.go.th หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด รวมทั้งสามารถร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือเดินทางมาร้องเรียนด้วยตนเอง ที่ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) ได้ทุกวันในเวลาราชการ หรือสายด่วน 1135 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อจะได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป