สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับการหลอกขายสินค้าในโลกออนไลน์ ซึ่งพฤติการณ์ของผู้กระทำความผิดแต่ละรายนั้น ก็แตกต่างกันออกไป บางรายเข้าข่ายความผิดข้อหาฉ้อโกง บางรายเข้าข่ายความผิดข้อหาลวงขาย ทำให้ผู้เสียหายสับสนว่า จะแจ้งความเอาผิดในข้อหาอะไร ระหว่าง ข้อหาลวงขาย กับ ข้อหาฉ้อโกง เนื่องจากความผิดใน 2 ข้อหาดังกล่าว มีองค์ประกอบหลัก คือ “การหลอกลวง” เช่นเดียวกัน แต่มีหลักการพิจารณา เพื่อแยกความผิดทั้งสองข้อหาได้อย่างไร
การลวงขาย คือ กรณีที่ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงซื้อขายสินค้ากัน และผู้ซื้อ “ได้รับสินค้า” แล้ว แต่สินค้านั้นผู้ขายได้หลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเท็จเกี่ยวกับ แหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือปริมาณแห่งสินค้า เช่น ผู้ขายอ้างว่า แหล่งกำเนิดของสินค้าอยู่ที่ประเทศอังกฤษ แต่สินค้าจริงผลิตที่ประเทศจีน สภาพหรือคุณภาพไม่เป็นไปตามที่ผู้ขายโฆษณาอวดอ้าง หรือปริมาณสินค้าไม่ครบตามจำนวนที่ผู้ขายโฆษณา เป็นต้น
ต่างจาก การฉ้อโกง คือ กรณีที่ผู้ซื้อ “ไม่ได้รับสินค้า” จากผู้ขาย โดยผู้ขายไม่มีเจตนาจะขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อจริงๆ หรือผู้ขายไม่มีสินค้าอยู่จริง การเสนอขายสินค้าเป็นเพียงขั้นตอนการหลอกลวงผู้ซื้อ เพื่อเอาเงินจากผู้ซื้อ หรือไม่มีสินค้าอยู่จริง แต่เอาภาพสินค้าของคนอื่นมาหลอกขาย โดยมีเจตนาหลอกลวง เพื่อเอาเงินจากผู้ซื้อมาตั้งแต่ต้น
สรุป คือ ถ้าซื้อสินค้าแล้ว “ไม่ได้รับสินค้า” เป็นการฉ้อโกง ถ้า “ได้รับสินค้า” แต่ไม่มีคุณภาพ สภาพไม่ตรงปก ปริมาณไม่ตรงตามที่แจ้ง จะเป็นการลวงขายสินค้า
ในบางกรณี แม้ผู้ซื้อจะได้รับสินค้าแล้ว แต่ก็อาจจะเป็นความผิดในข้อหาฉ้อโกงได้ หากผู้ขายมีเจตนาหลอกลวงผู้ซื้อ เพื่อจะเอาเงินจากผู้ซื้อมาตั้งแต่ต้น เช่น ประกาศขายสินค้าราคา 1,000 บาท แต่ส่งสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ ในราคา 20 บาท ซึ่งราคาสินค้าแตกต่างกันอย่างมาก พฤติการณ์ลักษณะนี้แสดงให้เห็นเจตนาของผู้ขายได้อย่างชัดเจนว่า ผู้ขายมีเจตนาหลอกลวงเอาเงินจากผู้ซื้อมาตั้งแต่ต้น การส่งสินค้าดังกล่าวเป็นแต่เพียงการสร้างหลักฐาน เพื่อไม่ให้ถูกดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกงเท่านั้น
...
นอกจากนี้ หากผู้ขายเคยมีพฤติการณ์หลอกลวงผู้ซื้อมาก่อนด้วยวิธีการเดียวกัน หรือถูกดำเนินคดีลักษณะนี้มาก่อน ยิ่งเป็นข้อเท็จจริงที่จะนำมาใช้ประกอบพยานหลักฐานอื่นๆ เพื่อแสดงให้เห็นเจตนาทุจริตของผู้ขายได้ ทำให้ผู้ขายอาจจะถูกดำเนินคดีในข้อหาลวงขาย หรือข้อหาฉ้อโกง แล้วแต่กรณี
การลวงขาย เป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 271 ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใดๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประกอบ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22 “การโฆษณาจะต้องไม่ใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม ทั้งนี้ไม่ว่าข้อความดังกล่าวนั้นจะเป็นข้อความที่เกี่ยวกับแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือลักษณะของสินค้าหรือบริการ ตลอดจนการส่งมอบ การจัดหา หรือการใช้สินค้าหรือบริการ
ข้อความดังต่อไปนี้ถือว่าเป็นข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือเป็นข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม
(1) ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง
(2) ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริงหรือไม่ก็ตาม ..... ”
การฉ้อโกงเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 341 ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ ผู้กระทำความผิดจะต้องรับโทษหนักขึ้น หากเป็นการฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ การฉ้อโกงหรือการฉ้อโกงประชาชน ยังเป็นการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท อีกส่วนหนึ่ง
ในกรณีที่ผู้ขายมีพฤติการณ์ฉ้อโกงประชาชน นอกจากผู้ขายจะถูกตรวจสอบทรัพย์สินและเส้นทางการเงินแล้ว คู่สมรส คนใกล้ชิด บิดามารดา และญาติ จะถูกตรวจสอบด้วย หากพบว่ามีพฤติการณ์ เป็นตัวการร่วม หรือ ช่วยเหลือสนับสนุน ก็จะถูกดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินด้วย ที่สำคัญ ไม่ว่าผู้ขายจะมีพฤติการณ์ลวงขายหรือฉ้อโกงก็ตาม อาจจะถูกตรวจสอบรายได้จากกรมสรรพากรอีกด้วยครับ ดังนั้น การโฆษณาขายสินค้าอย่างตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์ จริงใจ รับผิดชอบกับลูกค้า จะเป็นการดีที่สุดครับ
สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ
Facebook: ทนายเจมส์ LK
Instagram: james.lk