ผู้ว่าการ ธปท.แนะใช้นโยบาย 4 ด้าน “เยียวยาให้เร็ว ใช้สถาบันการเงินประคองธุรกิจ ดูแลภาระการคลัง สนับสนุนผู้ประกอบการปรับตัว” ชูจุดแข็งประเทศไทย ช่วยเศรษฐกิจไทยฟื้นได้ ในโลกวิถีใหม่ หลังโควิด-19 คลี่คลาย

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป หลังจากที่ประเทศไทยควบคุมการระบาดของโควิด-19 มาได้ค่อนข้างดี คือเราจะปล่อยให้ “การ์ดตก” ไม่ได้ เพราะหากเกิดการระบาดอีกรอบ ทรัพยากรของภาครัฐ และของภาคสถาบันการเงิน หรือเครื่องมือทางด้านนโยบายการเงินจะมีข้อจำกัดมากขึ้น และใช้ได้ยากขึ้นมาก หรือถ้ารอให้วิกฤติจบแล้วค่อยมาเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจก็อาจสายเกินไป จึงต้องวางนโยบายเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจไปพร้อมๆกัน โดยต้องหาสมดุลที่เหมาะสม 4 ด้าน คือ

1.การเยียวยาผลกระทบ ที่กำลังดำเนินการอยู่ และต้องเร่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโดยเร็ว ซึ่งในช่วงที่สถานการณ์เพิ่งเกิดขึ้น ต้องให้น้ำหนักกับมาตรการเยียวยาค่อนข้างมาก เพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจอยู่รอดและก้าวข้ามภาวะที่ยากลำบากนี้ ที่ต้องดูแลระบบเศรษฐกิจไม่ให้หยุดชะงักแรง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสังคมรุนแรง

2.ต้องไม่ทำให้ระบบสถาบันการเงินอ่อนแอ จนอาจเกิดปัญหาในอนาคต ที่ผ่านมาเราผ่านวิกฤติการเงินมาหลายครั้ง ทำให้มีระบบกำกับดูแลสถาบันการเงินไทยที่เคร่งครัด สถาบันการเงินมีเงินกองทุนและตั้งสำรองเผื่อหนี้เสียอยู่ในระดับสูง และมีการบริหารความเสี่ยงที่ดี

“วิกฤติครั้งนี้ เราขอให้สถาบันการเงิน ช่วยเหลือลูกหนี้ได้หลากหลายวิธี แต่ต้องระวังไม่ให้มาตรการเหล่านี้ ทำให้ระบบสถาบันการเงินอ่อนแอจนสร้างปัญหาในระยะยาว เพราะไม่เช่นนั้น เมื่อโควิด-19 คลี่คลาย สถาบันการเงินจะไม่สามารถปล่อยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ หรืออาจก่อให้เกิดวิกฤติสถาบันการเงินตามมา และต้องระวังไม่ให้มาตรการเยียวยาต่างๆกระทบต่อวินัยทางการเงินของลูกหนี้ ซึ่งอาจส่งผลเสียในระยะยาวได้ เช่น ยืดระยะเวลาชำระหนี้ทั้งที่ลูกหนี้ยังจ่ายชำระหนี้ได้อยู่”

...

3.การช่วยเหลือเยียวยาจะต้องไม่สร้างภาระทางการคลังจนมากเกินควร เพราะรัฐบาลมีทรัพยากรจำกัดและต้องตอบโจทย์ความต้องการ ของประชาชนหลากหลายกลุ่ม และดูแลพร้อมกันทั้งในด้านเศรษฐกิจ สาธารณสุข สังคม จึงต้องจัดสรรทรัพยากรอย่างทั่วถึง มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งเป็นเหตุผลว่าเหตุใดรัฐบาล จึงไม่อาจทุ่มงบไปกับการเยียวยาได้ทั้งหมด เพราะต้องจัดสรรบางส่วนไว้ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 คลี่คลาย

4.การปรับเปลี่ยนให้เข้ากับวิถีของโลกใหม่หลังโควิด-19 โดยต้องสนับสนุนให้คนไทยผู้ประกอบการปรับตัว เช่น ธุรกิจสายการบินในอนาคตคนจะเดินทางน้อยลง สายการบินต้องปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยลดกำลังการผลิตและอุปทานส่วนเกิน ก่อนที่จะเติมเงินเข้าไปช่วยเหลือ เพื่อช่วยให้การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด สอดคล้องกับโจทย์ของโลกใหม่ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ หลายธุรกิจยังยึดวิธีการทำธุรกิจรูปแบบเดิม คิดว่าหลังโควิด-19 คลี่คลายลงแล้วทุกอย่างจะกลับไปเหมือนเดิม เราจึงต้องช่วยกันคิดและส่งเสริมให้เกิด “นโยบายปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ” ให้มากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวสอดคล้องกับโครงสร้างเศรษฐกิจในวิถีโลกใหม่ได้ในอนาคต

“โลกาภิวัตน์ (globalization) ยังเป็นเรื่องสำคัญ แต่รูปแบบจะเปลี่ยนไปจากเดิม เทคโนโลยีจะมีบทบาทเพิ่มขึ้น การทำงาน การใช้ชีวิตในประเทศและข้ามประเทศจะอยู่บนพื้นฐานดิจิทัล ธุรกิจบริการที่อาศัยดิจิทัลเป็นพื้นฐาน (digitalbased) จะถูกใช้ประโยชน์มากขึ้น ซึ่งไทยมีจุดแข็งที่ทำให้ก้าวผ่านวิกฤติโควิด-19 ได้ดีกว่าหลายๆประเทศ เริ่มจากเศรษฐกิจมหภาคและฐานะการเงินระหว่างประเทศที่เข้มแข็ง เป็นที่ยอมรับจากนักลงทุน นักธุรกิจต่างชาติ ระบบสาธารณสุขมีประสิทธิภาพ และมีความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่เราต้องใช้ประโยชน์จากจุดแข็งนี้ เพื่อเคลื่อนย้ายทรัพยากรจากโลกเก่าไปสู่โลกใหม่”.