แพทย์ศิริราชห่วง โควิดระบาดในไทยรอบ 2 แม้ในประเทศปลอดเชื้อมาแล้ว 28 วัน ชี้คนไทยภูมิต้านทานน้อย ย้ำอย่าการ์ดตก พลาดแม้แต่วันเดียวก็ไม่ได้ 

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยเกี่ยวกับ สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากทั่วโลก และสิ่งที่ประเทศไทยต้องทำ เพื่อให้เกิดสมดุลเรื่องสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม

โดยระบุว่า องค์การอนามัยโลก ได้ออกมาเตือนเรื่องนี้ เนื่องจากในหลายประเทศกลับมาติดเชื้อรอบใหม่ มีคนติดเชื้อในแต่ละวันมากขึ้น ขณะเดียวกันมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ อย่างในอเมริกา ซึ่งเกิดขึ้นในบางรัฐ ที่เข้าสู่การผ่อนคลายเร็วกว่าที่ควรจะเป็น โดยช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า 81 ประเทศมีอุบัติใหม่ต่อวันเพิ่มสูงขึ้น มีเพียง 36 ประเทศที่ลดลง ประเทศไทย จัดอยู่ในประเทศที่พบผู้ป่วยน้อยลง เหมือนออสเตรเลีย

ขณะที่สถานการณ์ในประเทศไทย จำนวนผู้ป่วยของเรา ณ วันนี้มีแค่ 3 พันกว่า และไม่มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มในแต่ละวัน หรือมีก็น้อยมาก ซึ่งรูปแบบการกลับมาระบาดระลอกใหม่ มี 3 รูปแบบ คือ 1. เป็นคลื่นลูกเล็กๆ ต่อเนื่อง คือ ระบาดรอบแรกสูง พอเริ่มลดลง เข้าสู่การผ่อนคลาย แต่เกิดการติดเชื้อขึ้นมาใหม่ และรัฐบาลจัดการทันที โดยร่วมมือกับประชาชนในการสืบสวนโรค ค้นหาผู้เสี่ยงติดเชื้อและแพร่เชื้อ และดำเนินการเข้มงวด ธุรกิจอื่นก็จะดำเนินการต่อไปได้ เฉพาะธุรกิจที่มีปัญหาอาจจะถูกปิด แต่เศรษฐกิจประเทศจะไปต่อได้ ประชาชนยังออกจากบ้านได้ แต่ก็ยังต้องใช้ชีวิตลดความเสี่ยงในการกระจายเชื้อ อีกทั้งไม่เกินศักยภาพของการดูแล ทำให้อัตราการเสียชีวิตต่ำไปด้วย ค่าใช้จ่ายดูแลสุขภาพไม่สูง ซึ่งประเทศไทยเอง ตนหวังให้เป็นเช่นนี้

...

แต่ประเทศไทย กำลังจะเข้าสู่การผ่อนคลายระยะที่ 5 คนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยอยู่บ้าน การออกนอกบ้านก็มีส่วนให้เศรษฐกิจประเทศดีขึ้น แต่ก็มีความเสี่ยงแพร่ระบาดของเชื้อ ดังนั้น จึงต้องมีการเว้นระยะห่างของบุคคล ล้างมือ ใส่หน้ากาก และการใช้แอปฯ "ไทยชนะ" เพื่อให้การกลับมาใหม่แต่ไม่มากมายนัก เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ ดังนั้น "เราต้องช่วยกัน"

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า แต่หากเราไม่ช่วยกัน อาจเกิดการติดเชื้อใน รูปแบบที่ 2 ลักษณะเป็นยอดเขาและหุบเขา คือ รอบแรกเกิดขึ้นมาสูง หลังผ่อนคลายก็เกิดติดเชื้อขึ้นมาใหม่ใกล้เคียงของเดิม หมายความว่า มาตรการควบคุมก็จะกลับมาเข้มงวด เศรษฐกิจ ธุรกิจต่างๆ ก็ไม่สามารถทำได้ การฟื้นตัวเศรษฐกิจก็จะช้า ขณะเดียวกัน เมื่อคนป่วยเยอะ ค่าใช้จ่ายในการรักษาก็จะสูงขึ้น โอกาสเสี่ยงเสียชีวิตก็จะมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่า ไม่มีใครอยากได้แบบนี้  

หรือ รูปแบบที่ 3 ที่เราไม่อยากให้เกิด ซึ่งเคยเกิดเมื่อ 100 ปีที่แล้ว เมื่อครั้งเกิดไข้หวัดใหญ่สเปน คือ รอบแรกเจ็บป่วย เสียชีวิตสูง แต่การระบาดรอบ 2 เกิดการเจ็บป่วย และเสียชีวิตสูงขึ้นกว่าครั้งแรกมากมาย ซึ่งเชื่อว่าไม่น่าจะเกิดแบบนี้ในปัจจุบัน

ศ.นพ.ประสิทธิ์ เผยต่อว่า จากการวิเคราะห์ว่า ปัจจัยที่ทำให้โควิดแต่ละประเทศมีความรุนแรงมากน้อยต่างกัน คือ

  • คน ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม ความคิดและความเชื่อ พฤติกรรม วินัย เศรษฐกิจ การเมือง ฯลฯ เป็นปัจจัยสำคัญ ที่เชื่อว่าทำให้ไทยและประเทศในภูมิภาคแถวนี้ จัดการกับโควิด-19 ได้ค่อนข้างดี
  • การบริหารจัดการ จังหวะในการตัดสินใจ การกล้าตัดสินใจ หลังดูความสมดุลสุขภาพเศรษฐกิจสังคม ไม่ให้ด้านใดด้านหนึ่งมากไปจนด้านอื่นเสียหาย ซึ่งเริ่มต้นต้องให้ความสำคัญสุขภาพก่อน เมื่อสุขภาพดีขึ้น เศรษฐกิจจะดี สังคมจะดีขึ้น แต่เมื่อสุขภาพแย่ จำนวนคนไข้ใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน คนเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นหลักร้อย หลักพัน คนในประเทศคงไม่มีความสุข การประกอบอาชีพต่างๆ ก็ลำบาก 
  • เทคโนโลยีในการตรวจ สืบสวนติดตามการติดเชื้อ รวมถึงการรักษาพยาบาล และการพัฒนาวัคซีน
  • สถานการณ์ในประเทศต่างๆ และความร่วมมือระหว่างประเทศ หากรอบตัวยังมีการติดเชื้อ ก็มีโอกาสหลุดเข้ามาในประเทศไทย และแพร่ระบาดได้ จึงต้องติดตาม เพื่อวางแผนในประเทศ
  • ไวรัส แม้จะไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า มีการกลายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดผลกระทบการเสียชีวิตที่ชัดเจนแตกต่างจากก่อนหน้านี้ 

ในประเทศไทยเอง เริ่มวางใจ หลังจากที่ไม่พบผู้ป่วยในประเทศติดต่อกันนานหลายวัน แต่ในบางประเทศ อย่างจีน ที่ไม่มีติดเชื้อในประเทศ 57 วัน กระทั่งตลาดทางตอนใต้ปักกิ่ง พบการติดเชื้อและแพร่กระจาย โดยไทย ไม่พบผู้ติดเชื้อแค่ 28-29 วันเท่านั้น แต่พูดเลยว่า ไทยมีโอกาสกลับมาระบาดรอบ 2 แต่ถ้ากลับมาเล็กๆ ถือว่าไม่น่ากังวล และเราสามารถติดตามผู้ติดเชื้อ หรือแพร่เชื้อเหล่านั้นได้เร็ว เศรษฐกิจก็ยังคงเดินต่อไปได้ด้วย ไม่กระทบมากนัก นอกจากนี้ คนไทยยังมีภูมิต้านทานเชื้อโควิด-19 น้อย ถึงน้อยมาก ดังนั้นยุทธวิธีที่สำคัญ คือ การป้องกันการติดเชื้อ และการป้องกันการแพร่เชื้อจึงเป็นสิ่งจำเป็น จนกว่าจะมีวัคซีน 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ ย้ำว่า คนไทยต้องการ์ดอย่าตก เพราะพลาดแม้แต่วันเดียว สถานการณ์จะเปลี่ยน สิ่งที่เราพยายามสร้างสมดุลสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคมจะเสียไป ถ้าทำได้หากโควิด-19 จะกลับมา เราจะไม่มีผู้ป่วยมากเหมือนรอบแรก