เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง เกี่ยวกับการ “บูลลี่” (Bully) ซึ่งเกิดได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นในครอบครัว สถานศึกษา ที่ทำงาน หรือแม้กระทั่ง บนโลกไซเบอร์
ถ้าพูดถึงการ “บูลลี่” กรมสุขภาพจิต ได้แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ ทางร่างกาย เช่น ชกต่อย ตบตีด้วยอารมณ์, ทางสังคม หรือด้านอารมณ์ เช่น การกดดัน แบ่งแยก, ทางวาจา เช่น การดูถูก นินทา พูดจาเสียดสี และทางไซเบอร์ (Cyberbullying) หรือการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ หลอกลวง โพสต์ข้อความโจมตี คุกคามทางเพศ
ซึ่งผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งอาจได้รับผลกระทบทางตรงต่อจิตใจ อาจมีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และนำพาไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพ ความรู้สึก เช่นเดียวกับคนที่เป็นฝ่ายกลั่นแกล้ง กว่าจะโตเป็นผู้ใหญ่ อาจจะเคยชินกับการแกล้งผู้อื่น ชินกับการใช้กำลัง รังแกคนที่อ่อนแอกว่า จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงได้
และถ้าจะพูดถึง ไซเบอร์บูลลี่ หรือการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ผู้กลั่นแกล้งไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน (Anonymous) และเหยื่อก็มักไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กลั่นแกล้ง หรือเหตุผลที่ถูกกลั่นแกล้งเพราะอะไร ซึ่งการไม่ต้องเปิดเผยตัวตนจริงๆ อาจเป็นการกลั่นแกล้งที่รุนแรงกว่าเผยตัวตนเสียด้วยซ้ำ อีกทั้ง ไซเบอร์บูลลี่ ผู้กระทำ สามารถกระทำที่ไหน เวลาใดก็ได้ และสารเหล่านั้น ก็จะถูกแพร่กระจายไปได้รวดเร็วผ่านอินเทอร์เน็ต
ตัวอย่างของเหยื่อ ไซเบอร์บูลลี่ ก็มีทั้งเด็ก เน็ตไอดอล ดารานักแสดง หรือแม้แต่คนการเมือง อาทิ น้องเปา ไลฟ์สดช่วยแม่ขายของ, เจนนี่ ปาหนัน, รัศมีแข นักแสดงชื่อดัง หรือ ซอลลี่ นักแสดงเกาหลี ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ก็เคยผ่านจุดที่ถูกบูลลี่มาแล้วทั้งนั้น
แบบไหนบ้าง เข้าข่ายไซเบอร์บูลลี่
รูปแบบการบูลลี่ ก็มีแตกต่างออกไป แต่ถ้าพูดถึง “ไซเบอร์บูลลี่” ที่เราเห็นบ่อยครั้ง ก็จะเป็นการล้อเลียนสรีระรูปร่าง หน้าตา สีผิว การแสดงออกในชีวิตจริง ที่ขัดกับบทบาท หรือภาพจำของคนทั่วไป ซึ่งแม้กระทั่งคนที่เป็นดารา นักแสดงเอง มีไม่น้อยที่ถูกบูลลี่ในลักษณะนี้
และอีกแบบก็คือ การประจานให้เกิดความอับอาย ด้วยการสร้างกระแส เพื่อให้คนในสังคมเข้ามาโจมตีเหยื่อ การสร้างข่าวลือ การปล่อยคลิปที่สร้างความอับอายทางโซเชียล ก็เป็นวิธีการทำร้ายด้วยไซเบอร์บูลลี่แทบทั้งสิ้น
ผู้ที่ถูกบูลลี่ส่วนใหญ่ แม้จะไม่มีบาดแผลทางกาย แต่มีบาดแผลในใจ นอกจากจะได้รับความอับอาย วิตกกังวล เครียด อาจส่งผลให้บางคนเกิดภาวะโรคซึมเศร้า หวาดกลัวสังคม เลวร้ายที่สุด คือ การหนีจากปัญหา ด้วยการทำร้ายตัวเอง
“เหยื่อ” จะรับมือกับการถูกบูลลี่อย่างไร
หลายต่อหลายครั้งที่เหยื่อไม่สามารถเลี่ยงการถูกบูลลี่ได้ และการตัดสินใจตอบโต้โดยใช้อารมณ์ อาจเป็นทางออกที่ไม่ดีนัก ดังนั้น การรู้จักรับมือกับการถูกบูลลี่ อาจเป็นการช่วยเลี่ยงบาดแผลของเหยื่อเอง ด้วยการตั้งรับอย่างมีสติ นิ่งเฉย เพื่อลดกระแสความรุนแรง เมื่ออีกฝ่ายเห็นว่าเหยื่อนิ่งเฉย อาจจะถอยไปเอง หรือเลือกตอบโต้อย่างสุภาพ แสดงออกว่า ไม่สนุกกับคำบูลลี่ หรือพฤติกรรมบูลลี่เหล่านั้น แต่ก็ต้องบอกให้อีกฝ่ายเข้าใจในมุมของตนเองด้วย
รวมไปถึง การเลือกอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่เหมาะสมกับตัวเอง เบรกการรับสารทางโซเชียล แต่หากรู้ตัวว่า ไม่สามารถหาทางออกได้แล้ว ควรไปปรึกษานักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ เพื่อฟื้นฟูจิตใจ เข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างถูกวิธี
ตัวอย่างของคนที่เคยถูกบูลลี่ แล้วนำคำพูดเหล่านั้นมาเป็นแรงผลักดันตัวเองให้เกิดการยอมรับในสังคม อย่าง “เจนนี่ ปาหนัน” ซึ่งเคยให้สัมภาษณ์ในประเด็นที่เคยถูกโซเชียลบูลลี่ ในเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก ซึ่ง เจนนี่ ยอมรับตรงๆ ว่า แม้จะเห็นว่าตัวเองเป็นคนตลก อารมณ์ดี ใครก็อยากจะเข้ามาเล่นด้วย แต่คำบางคำรุนแรงเกินไปสำหรับตัวเอง ซึ่งอาจเป็นเพราะคนเหล่านั้นไม่รู้จะใช้คำพูดแบบไหนมากกว่า
ช่วงแรกๆ ที่โดนบูลลี่ ก็มีนิ่งเฉย แต่เมื่อโดนบ่อยขึ้น ก็เริ่มตอบโต้บ้าง แต่เป็นลักษณะการสอนมากกว่า ว่าไม่ควรพูดแบบนี้ หรือถ้าเจอคอมเมนต์แย่ๆ ก็จะใช้วิธีลบ หรือรีพอร์ตไปเลย เพราะมีความรู้สึกว่า อะไรที่เห็นแล้วทำให้ไม่สบายใจ ก็อย่าเห็นดีกว่า
ซึ่ง เจนนี่ บอกถึงคนที่กำลังบูลลี่อยู่ด้วยว่า จริงๆ คำพูดทุกคำ มีความร้ายแรง ความอันตราย ในการทำร้ายความรู้สึก ทำร้ายชีวิตคนคนหนึ่งได้เหมือนกัน จึงอยากให้ทุกคนใส่ใจกับคำพูดของตัวเองสักนิด ส่วนตัวเอง ก็พยายามคิดเสมอว่า เวลาพูดอะไร คำพูดเหล่านั้น ทำให้ใครเสียใจอยู่หรือเปล่า
พ่อแม่ ผู้ปกครอง มีส่วนช่วยลดการ “บูลลี่” ได้
ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการ ศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยถึงการกลั่นแกล้ง หรือการบูลลี่ ว่า มีในทุกสังคม ซึ่งในมุมมองของตน การยอมรับความแตกต่างซึ่งกันและกัน เป็นเหตุผลสำคัญ ที่ไม่ทำให้เกิดการกลั่นแกล้ง หรือบูลลี่ ในสังคม ซึ่งการยอมรับความแตกต่าง ต้องเริ่มสร้างตั้งแต่วัยเด็ก และสถาบันที่มีบทบาทสำคัญ คือ ครอบครัวและโรงเรียน พ่อแม่และผู้ปกครองควรสอนลูกว่า ต้องให้เกียรติผู้อื่น ไม่ล้อเลียนความแตกต่าง หรือที่ในสังคมไทยเรียกว่า “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” และต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกเห็นในเรื่องการเคารพความแตกต่างหลากหลายในสังคม
ในขณะที่คุณครูในโรงเรียนเอง ต้องสร้างสังคมแห่งการให้เกียรติและยอมรับซึ่งกันและกันในห้องเรียน ยอมรับความชอบและความสามารถที่แตกต่างกันของนักเรียนแต่ละคน ให้คุณค่ากับความหลากหลายด้วยการปฏิบัติและให้เกียรติอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งตอนนี้เด็กๆ จำนวนมาก ก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เช่นกัน
อย่างไรก็ดี ความยากคือ ในสังคมไทย มีเหตุการณ์บูลลี่เต็มไปหมด ทั้งในข่าว คลิป สื่อโซเชียล ละคร หรือมุกตลกต่างๆ และมีให้เห็นในทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง บันเทิง บุคคลทั่วไป ปัญหาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยมีการปล่อยให้เกิดการบูลลี่ในวัยเด็กมากเกินไป พอโตขึ้น คนที่เคยบูลลี่คนอื่นในวัยเด็ก ก็สามารถบูลลี่ออนไลน์ได้ เพราะติดเป็นนิสัย ในขณะที่คนเคยถูกบูลลี่ ก็รู้สึกสะใจ เสมือนได้เอาคืน ดังนั้น จึงย้อนกลับมาที่ ผู้ใหญ่ทุกคน แม้ว่าอาจจะเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้หมด แต่ต้องมีจำนวนหนึ่ง ยิ่งเยอะยิ่งดี ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องบูลลี่อย่างจริงจัง
ติด “บูลลี่” อาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรง
เมื่อถามว่า ผลร้ายแรงที่สุดของคนที่บูลลี่คนอื่นจนเป็นนิสัยคืออะไร? ผศ.ดร.ธานี ระบุว่า คือการละเมิดสิทธิของผู้อื่น เพราะการบูลลี่คือ การใช้อำนาจในการละเมิดผู้อื่น โดยไม่ต้องรับผิดชอบในการกระทำของตัวเอง ถ้าเริ่มต้นบูลลี่ตั้งแต่เด็ก เมื่อโตขึ้น และไม่สามารถกลับตัวได้ ก็จะติดนิสัยการละเมิดสิทธิของผู้อื่น อาจจะเป็นทางร่างกาย เช่น ใช้ความรุนแรง การบังคับขู่เข็ญ ทางจิตใจ เช่น ใช้ Hate Speech ใช้เล่ห์เหลี่ยม หรือทางสังคม ในการนินทาว่าร้าย สร้างข่าวเสียหาย เป็นต้น
ขณะที่ในโลกออนไลน์ มักมีข้อถกเถียงเรื่องพื้นที่สาธารณะบนสื่อโซเชียล อย่าง เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ฯลฯ ว่าใครจะแสดงความคิดเห็นอย่างไรก็ได้ หากคุณเปิดพื้นที่เป็นสาธารณะ ผศ.ดร.ธานี เผยว่า การปฏิบัติตัว หรือการให้เกียรติผู้อื่นในพื้นที่สาธารณะออนไลน์ หรืออาจเรียกรวมๆ ว่า วัฒนธรรมออนไลน์ (Online Culture) นั้น ในสังคมไทยยังไม่เคยพูดถึง แต่อาจจะมีพูดถึงบ้างในเรื่อง Fake News ซึ่งหมายถึงห้ามแชร์ข้อมูลไม่จริง และ Hate Speech ซึ่งหมายถึงห้ามใช้คำด่าทอรุนแรง มันก็เลยมีการใช้คำประชดประชัน กระแนะกระแหน หรือวิธีการอื่นๆ เพื่อความสะใจ หรือระบายอารมณ์ โดยเฉพาะกับคนที่ไม่รู้จักกัน ซึ่งมันคือการละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น
ทำอย่างไร เมื่อถูก “บูลลี่”
ถ้าถามว่าปัจจัยอะไรเป็นเกราะป้องกัน ไม่ให้คนที่ถูกบูลลี่รู้สึกกับคำพูดของคนอื่นนั้น ต้องย้อนกลับไปแก้ปัญหาที่คนบูลลี่ก่อน หากแก้ไม่ได้ คนที่ถูกบูลลี่ ต้องมีเพื่อนจำนวนหนึ่งที่เข้าใจและต้องมีสภาวะจิตใจที่เข้มแข็ง หากทนไม่ไหวควรไปพบนักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์
ดังนั้น หากจะแก้โจทย์ตรงนี้ ก็ต้องย้อนกลับไปที่ การสร้างวัฒนธรรมออนไลน์ (Online Culture) ที่ดีของสังคม ที่มาจากการตกลงกันของสาธารณชนในการปฏิบัติตัว และให้เกียรติผู้อื่นอย่างเหมาะสม ซึ่งควรมีหน่วยงานกลางในการจัดทำ และควรเป็นกลางจริงๆ เพื่อไม่ให้ผู้ใช้งานกังวลเรื่องการลดทอนเสรีภาพ โดยอาจจะเป็นสถาบันการศึกษา หรือภาคประชาสังคม ซึ่งหากมาจากการตกลงร่วมกันอย่างแท้จริง ข้อตกลงเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ และนำไปสู่การกำกับดูแลกันเองอย่างจริงจัง ในที่สุด ปัญหา Cyberbullying ก็จะลดลง แม้ไม่อาจเปลี่ยนทุกคนได้ แต่ขอเพียงมีจำนวนหนึ่งที่มากพอ
ผศ.ดร.ธานี กล่าวด้วยว่า ปลายทางหนึ่งของการยอมรับความแตกต่างในสังคมคือ การเป็นสังคมที่ยอมรับในสิทธิมนุษยชนอย่างสมบูรณ์แบบ เพราะนั่นหมายถึง การที่คนคนหนึ่ง จะมีความเข้าอกเข้าใจ และนึกถึงคนอื่นที่เราไม่รู้จักเขาเลย ถามว่าสังคมไทยก้าวถึงจุดนั้นหรือยัง ตนคิดว่าอีกไกล เพราะขนาดคนใกล้ตัวและคนที่เรารู้จัก การไม่ยอมรับความแตกต่าง การล้อเลียนและการไม่ให้เกียรติ รวมทั้งการบูลลี่ ยังพบเห็นอยู่มากมาย ถ้าเรายังปรับที่คนใกล้ตัวไม่ได้ คงคาดหวังคนไกลตัวได้ยาก แต่หากต้องทำอะไรสักอย่างให้สังคมดีขึ้น ความหวังก็กลับไปอยู่ที่ครอบครัวและโรงเรียนในการสร้างเด็กรุ่นใหม่ หากทำได้ เราอาจคาดหวังให้เด็กรุ่นใหม่เข้ามากำกับและชี้นำแนวปฏิบัติที่ถูกต้องให้กับผู้ใหญ่ในครอบครัวได้ด้วย ซึ่งแนวทางนี้ดูจะเป็นไปได้จริง
ในขณะที่ภาคธุรกิจ ก็มีส่วนช่วยลดการบูลลี่ได้เช่นกัน อย่าง “ดีแทค” (dtac) ตระหนักดีในฐานะผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายสำคัญว่าควรมีบทบาทสำคัญในการสร้างอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยเล็งเห็นว่า การใช้การสื่อสารทางออนไลน์ หรือการใช้ข้อมูลอย่างไม่เหมาะสม อาจนำไปสู่การสูญเสียรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งได้ ซึ่งสอดคล้องกับสถิติของโครงการวิจัย “การกลั่นแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” ที่ ดีแทค ได้ร่วมมือทางวิชาการกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ในปี 2562 พบว่าร้อยละ 91 จาก 1,606 กลุ่มตัวอย่าง เคยถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนจนถึงขั้นตนเองเสียใจหรือเสียความรู้สึก และกว่าร้อยละ 30 เคยถูกกลั่นแกล้งรังแกทางไซเบอร์ จึงทำให้ “ดีแทค” ได้ดำเนินโครงการ Safe Internet ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ สร้างทักษะและภูมิคุ้มกันแก่เด็กและเยาวชนให้สามารถท่องโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย เหมาะสม และสร้างสรรค์
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์อย่างยั่งยืน ดีแทค จึงได้ร่วมมือกับ “องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย” หน่วยงานภาคประชาสังคมด้านสวัสดิภาพเด็ก ในการพัฒนาและอบรวมหลักสูตร Gender diversity to stop cyberbullying ซึ่งเป็นเนื้อหาหลักสูตรซึ่งพัฒนาจากองค์ความรู้วิถีทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ การแสดงออกทางเพศ และลักษณะเพศ (Sexual Orientation, Gender Identity and Expression, and Sex Characteristics หรือ SOGIESC) ซึ่งเป็นแนวคิดในการอธิบายเพศสภาพ เพื่อสร้างความเข้าใจถึงความแตกต่างทางเพศของแต่ละบุคคลให้เกิดทัศนคติที่เหมาะสม และนำไปสู่ทัศนคติและการแสดงออกที่เคารพต่อบุคคลอื่นในสังคมที่มีความหลากหลาย โดยปัจจุบัน ได้ดำเนินการอบรมไปแล้วในหลายโรงเรียนของจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือของไทย
ถึงวันนี้แล้ว ทุกภาคส่วนต้องกลับมาใส่ใจเรื่องการบูลลี่ กลั่นแกล้ง ให้มากขึ้น ไม่มองว่าเป็นเรื่องปกติ และปล่อยผ่าน แต่ต้องให้ความสำคัญปลูกฝังเรื่องการเคารพสิทธิ ให้เกียรติกันและกัน แม้จะไม่ช่วยให้การบูลลี่เหล่านี้หมดไป แต่ก็ช่วยให้สังคมน่าอยู่ขึ้น.
ว่าแต่ คุณเคยถูก “บูลลี่” หรือ “บูลลี่” ใครโดยที่ไม่ได้ตั้งใจบ้างไหม “คลิกที่นี่”