อาจารย์เจษฎา ให้ความรู้กรณีพบเชื้อโควิด-19 บนเขียงแล่ปลาแซลมอนในตลาดค้าส่ง "ซินฟาตี้" ในกรุงปักกิ่ง สันนิษฐานเชื้อมาจากคนไอจามใส่เนื้อปลา เผยรับเชื้อจากการกินยากกว่าการสูดดม
จากกรณีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในกรุงปักกิ่งหลายแห่ง ตัดสินใจหยุดขายเนื้อปลาแซลมอน ในวันเสาร์ที่ 13 มิ.ย. 2563 หลังจากเจ้าหน้าที่ตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 บนเขียงแล่ปลาในตลาดค้าส่ง "ซินฟาตี้" ส่งผลให้ตลาดแห่งนี้กลายเป็นแหล่งพบผู้ติดเชื้อแบบกลุ่มก้อน หรือ คลัสเตอร์ แห่งใหม่ของกรุงปักกิ่ง โดยมีผู้ติดเชื้อที่เกี่ยวข้องแล้ว 45 ราย สร้างความกังวลว่า "แซลมอน" อาจปนเปื้อนไวรัสชนิดนี้หรือไม่นั้น
จากการสอบถาม อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ข้อมูลในเรื่องนี้ยังมีความสับสนอยู่ ในกรณีที่บังเอิญมากๆ มีคนติดเชื้อและไอจามลงไปเยอะๆ บนเนื้อปลา ก็เป็นไปได้ที่เชื้อจะอยู่บนนั้นแล้วยังไม่ตาย แม้จะผ่านการแช่เย็นมาแล้วก็ตาม
แต่ปริมาณของเชื้อที่จะแพร่ระบาดไปสู่ผู้คนในตลาดนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ประกอบกับการรับเชื้อโรคโดยการกินนั้น มีผลทำให้ผู้คนติดเชื้อได้ยากกว่าการสูดดมผ่านเข้าไปทางระบบหายใจมากนัก
...
"ถ้าผมสันนิษฐานเอง สิ่งที่เป็นไปได้มากกว่า คือมีคนที่ติดเชื้อโรคแล้วแพร่กระจายเชื้อไปทั่วภายในตลาดนั้น โดยที่เชื้อก็ไปลงบนเขียงปลาด้วย ซึ่งจะเป็นไปได้มากกว่าการที่มีเชื้อติดมากับเนื้อปลาแล้วจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคได้"
ขณะที่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สำหรับกรณีกรุงปักกิ่งนับเป็นบทเรียนที่น่าสนใจ จากการที่พบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่จำนวนกว่า 40 ราย ที่ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับตลาดค้าส่งอาหารสดนั้น เป็นข้อสังเกตว่าถึงแม้จะไม่มีรายงานการแพร่ระบาดมาเป็นเวลานาน แต่อาจมีการแพร่เชื้อเกิดขึ้นใหม่ได้ตลอด
ส่วนการพบวัตถุดิบหรืออาหารดิบมีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 นั้นต้องรอการตรวจสอบเพิ่มเติม ดังนั้น นอกจากการเข้มมาตรการป้องกันส่วนบุคคลแล้ว หากไปตลาดสด ประชาชนควรระมัดระวังการรับเชื้อ โดยวางแผนการจับจ่ายซื้อของ เลือกร้านและวัตถุดิบที่สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน ภายหลังการสัมผัสวัตถุดิบควรรีบล้างมือด้วยน้ำและสบู่ รีบซื้อและรีบกลับบ้านทำความสะอาดร่างกาย ล้างมือก่อนปรุงอาหาร ทำความสะอาดวัตถุดิบที่จะนำมาประกอบอาหาร และทานอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อนอยู่เสมอ.