สรุป "แหลมเกตซีฟู้ด" ร้านบุฟเฟต์ชื่อดัง เปิดโปรฯ ขาย Voucher สุดถูก ต่ำสุด 100 บาท แต่สุดท้ายไม่ได้กิน ลูกค้ารวมตัวเอาผิด สู่คำพิพากษา คุก 2 ผู้บริหาร 1,446 ปี
หากยังจำกันได้ เมื่อปี 2562 ร้านอาหารซีฟู้ดบุฟเฟต์ชื่อดัง "แหลมเกตซีฟู้ด" เป็นข่าวครึกโครม เมื่อประกาศขายบัตร Gift Voucher ล่วงหน้า ในราคาแตกต่างกัน โดยราคาถูกสุดคือ 100 บาท จากราคาปกติ คนละ 888 บาท ทำให้มีคนแห่ซื้อจำนวนมาก แต่เมื่อลูกค้านำบัตร Gift Voucher มาใช้ กลับพบว่า เมนูอาหารบางอย่างต้องเสียเงินเพิ่ม ไม่เหมือนกับที่โฆษณาไว้ อีกทั้งต้องมีการจองโต๊ะล่วงหน้าเป็นเวลาหลายเดือน จนบางคนไม่สามารถใช้ Gift Voucher ได้ทันเวลาที่กำหนด
นอกจากนี้ เมื่อลูกค้าเข้าไปใช้บริการแล้ว ยังให้ลูกค้าไปต่อคิวรับอาหารเอง จากปกติ จะใช้พนักงานมารับออเดอร์ และนำมาเสิร์ฟ รวมถึงเปลี่ยนภาชนะมาใส่ชามชานอ้อย
ต่อมาวันที่ 23 มี.ค.62 ทางร้านได้ออกมาประกาศว่า "ขอยกเลิกและงดให้บริการทุกโปรโมชั่น" ขอให้ลูกค้าที่ซื้อบัตรไปนำมาขอเงินคืน
...
ถัดมา วันที่ 2 มิ.ย.62 ในโลกโซเชียลมีการแชร์ภาพจากกลุ่มไลน์ของทางร้านที่ประกาศว่า "ทางร้านขออนุญาตปิดปรับปรุงกิจการชั่วคราว เนื่องจากจำนวนลูกค้าที่ลดน้อยลง ทำให้ขนาดพื้นที่และการให้บริการไม่สอดคล้องกัน สำหรับลูกค้าเรื่อง Refund Voucher ทางบริษัทยังดำเนินการตรวจสอบ และทำการประสานงานในขั้นตอนตามปกติ"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ในโลกโซเชียล ยังมีกระแสข่าวลือที่ว่า ร้านได้ทำการปิดถาวรทุกสาขา และขนของออกไปจากร้านหมดแล้ว แต่ยังมีผู้เสียหายอีกประมาณ 4,000 คน ที่ซื้อ Gift Voucher ไว้ แล้วยังไม่ได้เข้าไปใช้บริการ ซึ่งทางร้านบอกจะคืนเงินให้ แต่สุดท้ายก็ยังไม่ได้รับเงินคืน รวมๆ แล้ว มูลค่ากว่า 10 ล้าน ทำให้ลูกค้าที่ได้รับความเสียหาย รวมตัวเข้าไปร้องเรียนที่ สคบ.
โดยจำนวนของลูกค้าที่เข้าไปร้องเรียน ณ ขณะนั้นคือ 818 ราย คืนเงินไปแล้ว 375 ราย จำนวนเงิน 1,194,177 บาท และยังมีคงค้างไว้ที่ประมาณ 1 ล้านกว่าบาท คิดเป็นรายบุคคลสูงสุดรายละ 2 หมื่นกว่าบาท และต่ำสุดรายละ 2 พันกว่าบาท ซึ่งทางผู้บริหารแหลมเกต ยอมรับกับ สคบ. ว่า มีการโฆษณาโปรโมชั่นมากเกินไป จนไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ต่อมาผู้เสียหายมีการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้บริหาร "แหลมเกตซีฟู้ด"
กระทั่งล่าสุด วันนี้ (10 มิ.ย.63) ศาลอ่านคำพิพากษาในคดี ที่พนักงานอัยการยื่นฟ้อง บริษัท แหลมเกตอินฟินิท จำกัด, นายอพิชาต หรือ โจม บวรบัญชารักษ์ หรือ พารุณจุลกะ, น.ส.ประภัสสร บวรบัญชา เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิด ร่วมกันก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด คุณภาพ ปริมาณ ในสินค้าหรือบริการด้วยการโฆษณาข้อความอันเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 เเละ พ.ร.บ.คอมฯ
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานประกอบคำรับสารภาพเเล้ว พิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก ประกอบมาตรา 341, 83 พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 47, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(1) การกระทำของจำเลยทั้งสาม เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91
ฐานเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิดคุณภาพปริมาณ หรือสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ฐานหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และฐานหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ กับฐานหลอกลวงผู้อื่นโดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน มีอัตราโทษเท่ากัน
จึงให้ลงโทษฐานหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเพียงบทเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 วรรคแรกประกอบมาตรา 341, 83 จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดรวม 723 กระทง ให้จำคุกจำเลยที่ 2, 3 ทุกกระทง กระทงละ 2 ปี รวมจำคุกคนละ 1,446 ปี