ผมนึกถึงสำนวน ลูกเสือ ลูกจระเข้ ที่คนโบราณสอนว่า เป็นสัตว์เลี้ยงไม่เชื่อง เปิดหนังสือสัตว์นิยาย (ส.พลายน้อย สำนักพิมพ์รวมสาส์น พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ.2541) ไม่เจอเรื่องเสือ เจอแต่เรื่องจระเข้

ตอนวิธีจับจระเข้ของคนสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฟอร์บัง นายทหารเรือฝรั่งเศส ฟังจากปากคนไทยและบันทึกไว้เมื่อ พ.ศ.2228 แม่น้ำลำคลองใกล้เคียงเมืองบางกอกนั้นมีจระเข้ชุกชุมมาก

วิธีจับจระเข้...เขาใช้เป็ดตัวเป็นๆเป็นเหยื่อ เอาไม้ใหญ่ยาวราวสิบนิ้ว เสี้ยมให้แหลมสองปลาย ผูกไว้ใต้ท้องเป็ดด้วยเชือกเกลียวเล็กและเหนียว ล่ามโยงไว้กับทุ่นไม้กระบอก ปล่อยเป็ดลงกลางแม่น้ำ

เป็ดดิ้นร้องเรียกจระเข้ที่นอนซุ่มเงียบอยู่ริมฝั่งให้กระโจนลงน้ำ พอมันฮุบเบ็ดก็มุดน้ำหนี คนก็รั้งเชือกจนมันขึ้นเหนือน้ำ หมอจระเข้ เอาฉมวกด้ามไม้ มีเชือกยาวแทง

ผ่อนเชือกให้จระเข้ว่ายหนี แต่ด้ามฉมวกไม้ยังลอยให้เห็นว่ามันอยู่ไหน

ฉมวกแผลเดียวยังเอาไม่อยู่ ต้องตามแทงอีกหลายแผล จนมันอ่อนแรงก็ลากขึ้นบก ใช้ขวานจามจนมันตาย

ยังมีการจับจระเข้อีกวิธีที่เร้าใจกว่า เริ่มต้นเมื่อจระเข้เข้ามาใกล้ ชาวบ้านก็จะช่วยกันตะโกนเสียงดังๆ หรือเอาปืนยิงให้มันตกใจ หนีลงไปกบดานใต้น้ำ

จากนั้นชาวบ้านก็ใช้เรือหลายลำพายตามจระเข้อยู่ใต้น้ำได้ไม่เกินครึ่งชั่วโมงก็โผล่ขึ้นมาหายใจ คนในเรือที่อยู่ใกล้ก็พุ่งฉมวกใส่ “คนไทยพุ่งฉมวกแม่นยำนัก” ฟอร์บังว่า

ถ้าฉมวกพุ่งเข้าปากก็ได้มันง่าย แต่ถ้าไม่ถูกปากก็ต้องลอยเรือตามพุ่งฉมวกซ้ำหลายครั้ง จนแน่ใจว่าจระเข้หมดแรง คนก็จะช่วยกันจับขึ้นบกแล่เนื้อออกเป็นชิ้นๆ “เนื้อมันสีขาวคล้ายปลากระเบน ฉันได้ลองแล้วรสไม่สู้เลวนัก”

...

วิชาจับจระเข้ ส.พลายน้อยบอกว่า สืบทอดมาจากอียิปต์โบราณ แตกต่างตรงที่อียิปต์ใช้หมูเป็นเหยื่อ

ระดับครูหมอจระเข้อียิปต์มีคาถาเสก ส.พลายน้อยได้คาถาภาษามลายูที่มีคำแปลเป็นไทยต่อไปนี้

“น้ำจะทำให้เจ้าหายใจไม่ออก กระดูกของเหยื่อที่เจ้ากินเข้าไปจะทำให้เจ้าอืด หนังของเหยื่อที่กินเข้าไปจะทำให้เจ้าอืด เลือดของเหยื่อที่กินเข้าไปจะทำให้เจ้าอืด”

ร่ายคาถาแล้วเอาพายตีน้ำสามครั้ง...จระเข้ได้ยินคาถาก็จะขึ้นมากินเบ็ด

ส.พลายน้อยเล่าต่อว่า คนโบราณถือว่าจระเข้เป็นพาหนะของเจ้า อียิปต์มีเรื่องเล่า เทพีไอซิสเคยขี่จระเข้ตามเก็บชิ้นส่วนเทพโอซิริส พระสวามี ที่อินเดีย ทั้งพระอิศวร พระแม่อุมา ก็เคยใช้เป็นพาหนะ

ริมแม่น้ำลำคลองสมัยโบราณในศาลเจ้ามีหัวจระเข้ และฟันปลาฉนากบูชา ความเชื่อเรื่องจระเข้เจ้า สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเคยเจอ

“ถึงวังเจ้าเขตเมืองกำแพงเพชร ที่วังเจ้านี้เป็นที่เลื่องลือว่า มีจระเข้ใหญ่ตัวหนึ่งเป็นจระเข้ของเจ้า นัยว่าไม่กลัว แต่ไม่ทำอันตราย คนเรา มาถึงเวลาบ่าย เขาชี้ให้ดูชายตลิ่งตรงที่จระเข้เคยขึ้นตากแดดในเวลาเช้า”

แวะขึ้นไปดูศาลเจ้าเห็นปลูกเป็นไม้ไว้สามหลัง ชำรุดทรุดโทรมจวนจะพัง เมื่อขากลับจะลงเรือ พระยาพจนปรีชาปากไว ท้าเจ้าว่า “ถ้าศักดิ์สิทธิ์จริงขอให้ขึ้นมาให้เห็น”

พอขาดคำจระเข้ก็ลอยขึ้นมาให้เห็น เป็นจระเข้ขนาดหัวยาวสักศอกเศษ ลอยอยู่สักห้านาทีจึงได้จม

ได้ดูด้วยตากันหมดรวมเรือหกลำ ต้องบอกเรี่ยไรกัน ปฏิสังขรณ์ศาลเจ้าเป็นการตอบแทน

จระเข้เจ้าตัวที่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯทรงเห็นขลังจริง สื่อสารกับคนด้วยไมตรี ต่างจากจระเข้ที่คนสมัยอยุธยาล่า

เรารู้แล้วเรื่องเหยื่อ คนอยุธยาใช้เป็ด คนอียิปต์ใช้หมู...คำถามสมัยนี้ ใช้อะไรเป็นเหยื่อล่อจระเข้ คำตอบแบบหาเรื่องด่า ถ้าเป็นจระเข้การเมือง เขาต้องใช้เก้าอี้รัฐมนตรี.

กิเลน ประลองเชิง