สถานการณ์การแพร่ระบาดของ ไวรัสโคโรนา 2019 ได้ส่งผลต่อ พฤติกรรมของประชาชน ที่ต้องใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวัง ใช้ชีวิตในสังคมน้อยลงและ อยู่กับบ้านมากขึ้น ปัญหาที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญหาหนึ่งก็คือเรื่องของ ขยะไม่ว่าจะเป็น ถุงพลาสติก กล่องอาหาร กล่องกระดาษ พัสดุไปรษณีย์ ทำให้ปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้น เฉลี่ยประมาณร้อยละ 15 ต่อวัน หรือคิดเป็นปริมาณขยะ จากเดิม 5,500 ตันเป็น 6,300 ตันต่อวัน ปัญหาต่อมาก็คือจะทำอย่างไรกับจำนวนขยะที่เพิ่มขึ้นในสถานการณ์เช่นนี้
เผอิญว่า บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ GC ได้คิด โครงการกำจัดขยะในรูปแบบใหม่ ที่จะเข้ากับวิถีใหม่ของประชาชนขึ้นมา จึงได้นำไปหารือกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, เครือข่ายความยั่งยืนแห่งประเทศไทย และคู่ค้าของ GC เพื่อสร้างโครงการต้นแบบ โครงการหนึ่งขึ้นมา เรียกว่า โครงการ ส่งพลาสติกกลับบ้าน ฟังดูอาจจะพื้นๆธรรมดา แต่เมื่อดูเป้าหมายของโครงการแล้วน่าสนใจ
การเรียกคืนขยะที่มีคุณภาพ นำร่องให้เกิด Circular Hotspot บนถนนสุขุมวิท แห่งแรกของประเทศไทย สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนใหม่ ควบคู่กับการสร้างประโยชน์เชิงสาธารณะ ถือว่าเป็นโครงการแรกที่จะใช้เป็นต้นแบบให้กับอาเซียน หลังพ้นสถานการณ์โควิด-19ไปแล้ว
วิธีการนี้ ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พีทีที โกลบอล เคมิคอล อธิบายว่า เพื่อเป็นการสร้างประโยชน์ในเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่จะเป็นผลดีกับเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันและอนาคตโดยการนำหลักการ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน มาใช้เป็นต้นแบบ โดย GC จะสร้างกลไกให้เกิดการคัดแยกที่ถูกต้องขึ้นมาในเบื้องต้น ก่อนที่จะนำขยะมารีไซเคิล ผ่านโครงการร่วมสร้างจุดบริการรับฝากขยะ หรือ Drop point ร่วมกับพันธมิตร
...
เน้นว่า การจัดการขยะจะต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน ด้วยการคัดแยกขยะพลาสติกและทำความสะอาดก่อนทิ้งอย่างถูกต้อง จากนั้น ขยะพลาสติกจะถูกนำมาเข้าโรงงานรีไซเคิล ผ่านกระบวนการเปลี่ยนเป็นเส้นใยและเม็ดพลาสติก แล้วนำมาผ่านโรงงานแปรรูปเพื่อนำกลับมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์รีไซเคิลและอัพไซเคิล กลับไปสู่ผู้บริโภคอีกครั้งหนึ่ง ขยะที่คัดแยกอย่างถูกต้องสามารถที่จะสร้างรายได้ ยกระดับอนามัยและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เรายังต้องพึ่งพาพลาสติก ที่จะต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้ในการป้องกันการติดเชื้อ ใช้ในด้านสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ อุปกรณ์ต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในอนาคตเรายังไม่รู้ว่า เราจะต้องพึ่งหน้ากากอนามัย หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จะลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปอีกนานแค่ไหน
เพียงแต่ว่าวันนี้เรารู้จักการบริหารจัดการ ในการใช้พลาสติกแบบหมุนเวียน ให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด เช่นโครงการส่งพลาสติกกลับบ้านของ GC เท่ากับรู้การเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสได้อย่างเหมาะสม เป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเองไปสู่ยุค New Normal ในอนาคต.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th