นาทีนี้ไม่ว่าใครก็พูดถึง New Normal หรือชีวิตวิถีใหม่

เหตุเป็นเพราะ “วิกฤตโควิด-19” ที่แพร่ระบาดทำลายชีวิตผู้คน รวมทั้งเศรษฐกิจ สังคมของทุกพื้นที่บนโลก
แต่วิกฤตครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกของโลก! โรคระบาดใหญ่อย่างอหิวาต์ โรคติดต่ออย่าง HIV ที่ปัจจุบันก็ยังมีอยู่ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 ที่มีสายพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอด ล้วนเป็นวิกฤตทางสุขภาพระดับโลกที่เราต่างเคยผ่านกันมาแล้ว ดังนั้น ในวิกฤตโควิด-19 นี้พวกเราก็จะต้องผ่านไปได้อีกครั้ง

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในฐานะองค์กรสำคัญของประเทศที่เน้นการสร้างสุขภาวะให้แก่ทุกคน ในทุกมิติ ทั้งทางกาย จิตใจ สังคม และปัญญา ดังนั้น จึงได้จัดเสวนา “ทิศทางประเทศไทย : ฝ่าวิกฤตโควิด-19 สู่ชีวิตวิถีใหม่” เชิญ 4 วิทยากรระดับกูรูทั้งภาคเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข และสุขภาพ มาร่วมเปิดมุมมองและแนะแนวทางการใช้ชีวิตใหม่หลังเผชิญโควิด-19 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนัก สสส. เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

งานเริ่มต้นด้วยการเปิดตัววิดีโอตัวล่าสุดที่ต้องการส่งสารบอกว่า เราได้ผ่านวิกฤตใหญ่มาหลายครั้ง หลายเหตุการณ์ในอดีตทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง คนปรับตัว และในวิกฤตโควิด-19 นี้เองก็ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง และพวกเราจะสามารถก้าวผ่านไปได้เช่นเดิม ด้วยการสร้างชีวิตวิถีใหม่
คลิกชม www.thaihealth.or.th

จงดำเนินชีวิตด้วยสติและปัญญา - พระไพศาล วิสาโล

“การรักษาใจสำคัญไม่แพ้กับการรักษากาย นอกจากดูแลป้องกันตัวเองให้รอดจากเชื้อโรคแล้ว ยังต้องดูแลจิตใจไม่ให้เกิดความเครียดหรือวิตกกังวลด้วย เพราะหากกายไม่ป่วย แต่ใจทุกข์ ก็อาจทำให้กายเจ็บป่วยได้ในที่สุด” พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ กล่าวแนะนำผ่านระบบประชุมทางไกลออนไลน์

4 หลักปฏิบัติทำได้ง่ายจากตัวเอง

     1. ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ตระหนักว่าความเครียด วิตก กลัว ทำร้ายจิตใจ

     2. พยายามอย่าอยู่นิ่ง หากิจกรรมทำคลายเครียด

     3. ทำประโยชน์ต่อส่วนรวม เช่น ผลิตหน้ากากผ้าแบ่งปันตามกำลังที่พอทำได้

     4. ปรับตัว หาช่องทางเพิ่มรายได้

โควิด-19 เปรียบเหมือนสงครามโลกครั้งที่ 3 เราต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอด - ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

“ทั่วโลกต้องหยุดนิ่งหลังเผชิญโรคระบาดโควิด-19 ยิ่งกว่าสงครามโลก เชื้อไวรัสเป็นศัตรูที่มองไม่เห็น แต่มีอนุภาพทำลายล้างได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ทั่วโลกต้องเผชิญปัญหาใหญ่คือ การว่างงาน สงครามการค้า วิกฤตราคาน้ำมัน ตลาดทุน ความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจ ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจถึงปีหน้า” ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ กรรมการคณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในศูนย์บริหารสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กล่าวในงานเสวนาพร้อมแนะแนวทางการรับมือระยะยาว

“รัฐบาลควรเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส แก้ไขปัญหาการว่างงานขนาดใหญ่ ปัญหาฝนแล้ง ช่วยเหลือสภาพคล่องของผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี และมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ในระยะยาวต้องใช้เงินกู้เพื่อกระตุ้นการผลิตและการจ้างงาน ไม่มุ่งเฉพาะการเยียวยา และปรับคุณภาพแรงงานให้มีทักษะพร้อมกับโลกยุคใหม่ และแก้ความเหลื่อมล้ำ พร้อมสร้างความมั่นใจให้นานาชาติ”

New Normal ที่จะรอดในเศรษฐกิจย่ำแย่อย่างนี้ ต้องเริ่มจากการปรับตัว ปรับทัศนคติ ให้ยอมรับว่ามีปัญหาเกิดขึ้น แล้วพยายามแก้ปัญหาเหล่านั้นจนเอาตัวรอดได้ สิ่งสำคัญคือพัฒนาทักษะใหม่ๆ ไม่ว่าจะอาชีพใดก็ต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วย ที่สำคัญต้องรู้เท่าทันเรื่องสุขภาพ

โรคระบาดจะทำให้คนอดตาย แต่เรารอดได้ด้วย “พอเพียง” - นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร

“ไทยติดอันดับ 1 ใน 6 ประเทศที่มีแหล่งอาหารสำรองของโลก เพราะมีต้นทุนด้านเกษตรกรรมที่ดีอยู่แล้ว ผลกระทบจาก โควิด-19 ทำให้แรงงานกลับบ้านเกิดมากขึ้น ก่อให้เกิดโอกาสในการพัฒนาชุมชน หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สามารถนำมาใช้เป็นพื้นฐานการปรับแนวความคิดการดำเนินชีวิตใหม่ จากการมุ่งเน้นหาเงิน เป็นการสร้างพื้นฐานปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค เพื่อให้พอกิน พอใช้ พออยู่ และพอแบ่งปัน” นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาชุมชนให้อยู่ได้ด้วยการพึ่งตนเองกล่าว

“วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้คือเล็กเปลี่ยนโลกอย่างแท้จริง สิ่งที่รัฐต้องเร่งทำคือ การแก้ปัญหาเช่นภัยแล้ง จัดสรรแหล่งน้ำ เพื่อให้ทำมาหากินได้ การปรับตัวหลังจากเกิดโควิด-19 รัฐควรเดินหน้านโยบายเกษตรยั่งยืนอย่างจริงจัง ไทยควรจัดตั้งองค์กรเกษตรกรเข้มแข็ง มีโรงเรียนเกษตรกร มีศูนย์ฝึกหมู่บ้าน เพื่อลดการพึ่งพาของรัฐ ส่วนสังคมเมืองควรปรับพื้นที่ที่จำกัดให้สามารถปลูกพืชผักที่สามารถนำมาพึ่งพาตัวเองได้ด้วย ถ้าเรามีความมั่นคงทางอาหาร ก็จะผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันได้”

โควิด-19 คือซีรีย์เรื่องยาว ประชาชนทุกคนคือคนเขียนบท ผู้กำกับ และนักแสดง - นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์

“โรคระบาดโควิด-19 ไม่ใช่โรคแรกที่เกิดขึ้น และไม่ใช่โรคสุดท้ายเช่นกัน โรคร้ายอย่างเอดส์ก็ยังไม่หมดไป แต่เราควบคุมป้องกันได้ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ๆ ก็มีขึ้นใหม่ทุกปี แต่เรามีวัคซีนป้องกัน เหล่านี้คือบทเรียนที่ทำให้เห็นว่า เราต้องเผชิญกับโรคต่างๆ ที่จะทยอยเกิดขึ้นอีกมาก ซึ่งเราต้องปรับตัวเพื่อเอาตัวรอดจากทุกโรค” นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ที่ปรึกษาด้านวิชาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เฉพาะการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และอดีตนายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรมป้องกัน สาขาระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าว

“เราอยากเห็นซีรีย์เรื่องยาวนี้จบอย่างไรก็ต้องช่วยกัน ประเทศต้องเปิดอย่างแน่นอน แต่เปิดอย่างไรให้จำนวนผู้ป่วยไม่ล้นห้องที่โรงพยาบาลในระบบสาธารณสุขของประเทศดูแลได้ ซึ่งตอนนี้ถือว่า พวกเราช่วยกันอย่างเต็มที่ ทุกหน่วยของสังคมมีการปรับตัว ส่วนเรื่องของวัคซีนต้องรอปีหน้าอย่างแน่นอน”

พร้อมแนะเปลี่ยนแปลงค่านิยม 5S เพื่อให้เกิดผลระยะยาว ฝั่งลึกในสังคม

• Safety ความปลอดภัยมาก่อนความสนุกสนาน

• Small งานสังคมจัดเล็กแต่ซึ้ง

• Save Resources ลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น

• Social Justice นึกถึงส่วนรวม ลดความเหลื่อมล้ำ

• Spiritual Dimension จิตวิญญาณที่เข้มแข็งจะทำให้เรามีสติรอดทุกปัญหา

โควิด-19 สัญญาณเตือนภัยล่าสุดจากโลก สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน - ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์

“ในฐานะนักสร้างสุขภาวะที่ดีแก่ทุกคนในสังคม เราตระหนักดีว่าโควิด-19 เป็นปัญหาที่กระทบต่อทุกคน การที่มีสุขภาพทั้งกายและใจแข็งแรงจะช่วยให้รับมือทุกวิกฤตได้ ดังนั้น สสส.จึงได้ใช้องค์ความรู้และความสามารถที่มีอยู่เดิม ทั้งในเรื่องของการสร้างสื่อที่ประชาชนเข้าใจได้ง่าย และการสร้างวิถีชีวิตรวมถึงค่านิยมใหม่ๆ อย่างที่เคยได้ทำสำเร็จในสังคมไทยมาแล้ว อย่างการเปลี่ยนการค่านิยมการให้เหล้าเป็นของขวัญปีใหม่ เป็นการ “ให้เหล้า=แช่ง” หรือการสูบบุหรี่ไม่ใช่เรื่องที่วัดความเป็นชายแท้ แต่เป็นเครื่องทำลายสุขภาพตัวเองและคนรอบข้าง” ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงบทบาทของสสส.ในสถานการณ์โควิด-19

“วงจรการเกิดโรคระบาดมี 3 ระยะ คือ 1.ระยะความกลัว กังวล เพราะยังไม่มีความรู้ ความเข้าใจ 2.ระยะการเรียนรู้ และ 3.ระยะเกิดพัฒนาการสู่การเปลี่ยนแปลง ที่นอกจากจะให้ความสำคัญเรื่องสุขอนามัยเพื่อป้องกันโควิด-19 แล้ว ยังนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อการป้องกันในอนาคตทั้งในระดับบุคคล สังคม สิ่งแวดล้อม และเชิงระบบ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการป้องกันโรคระบาด ที่เราไม่ได้มองแค่โควิด-19 แต่ต้องมองถึงอนาคตด้วย”

ในก้าวเบื้องต้นของการเดินทางไกลในขณะนี้ สสส. และภาคีเครือข่าย ได้จัดทำไกด์ไลน์แนวทางปฏิบัติการสร้างชีวิตวิถีใหม่แล้ว 7 คู่มือ ครอบคลุมประเด็นการใช้ชีวิตประจำวัน การป้องกันและเฝ้าระวังโรค มาตรการสำหรับโรงเรียน สถานศึกษา รวมถึงการจัดระเบียบสังคม การสร้างความเข้าใจเพื่อลดการตีตราผู้ป่วย ทุกคนสามารถดาวน์โหลดคู่มือได้ที่ www.thaihealth.or.th

ชมงานเสวนาย้อนหลังได้ที่ FB: สสส. : ThaiHealth