สารพัดปัญหาทั่วไทย จากการ #เรียนออนไลน์ วันแรก เน็ตไม่พร้อม เว็บล่ม จูนทีวีดูไม่ได้ บ้านมีเด็กหลายคนอุปกรณ์ไม่พร้อม แถมครูต้องเช็กชื่อ
จากกรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้กระทรวงศึกษาธิการเลื่อนเปิดเทอมจากเดือน พ.ค. เป็นวันที่ 1 ก.ค. 63 พร้อมกันทั้งประเทศ โดยวันนี้ (18 พ.ค.63) เริ่มการถ่ายทอดสัญญาณ การเรียนออนไลน์ ผ่าน ช่องทีวีดิจิทัล 17 และเว็บไซต์ DLTV รวมถึงแอปพลิเคชัน DLTV
ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 63 นางจารี เมืองคล่องน้อย อายุ 42 ปี ชาวจังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า ครอบครัวตัวเองไม่มีอุปกรณ์ที่สามารถเรียนได้ ไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีโน้ตบุ๊ก มีโทรศัพท์ ก็เครื่องละไม่กี่บาท ไวไฟก็ไม่ได้ติด เพราะมีข้อจำกัดเรื่องเงิน ทำให้ลูกๆ เรียนออนไลน์ไม่ได้ เพราะมีโทรทัศน์เครื่องเดียว
นอกจากนี้ ตนมีลูกที่ต้องเลี้ยงอีก 4 คน คนโตมีโทรศัพท์แล้ว แต่ก็ยังขาดอีก 3 เครื่อง หากต้องซื้อ ก็ต้องกำเงินหมื่นไปซื้อ คงไม่มีปัญญา ส่วนตัวก็เห็นด้วยกับการเรียนออนไลน์ เพราะการศึกษา คือ ใบเบิกทางอนาคต แต่ครอบครัวตนไม่พร้อม จึงขอผ่านนโยบายนี้ไปก่อน รอให้เปิดเทอมทีเดียว
...
น้องเตเต้ นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งรอเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้านตั้งแต่ 08.30 น. ตามตารางเรียน แต่ปรากฏว่า ทั้งทีวีดิจิทัล ช่อง 48 สำหรับ ม.3 เป็นช่องโฆษณาขายสินค้า ไม่ได้มีการถ่ายทอดวิชาที่เรียน
เมื่อเข้าไปเว็บไซต์ทั้งทางโทรศัพท์มือถือ และโน้ตบุ๊กก็ไม่สามารถเข้าได้สัญญาณหมุนติ้วๆ และแม้จะพยายามเข้าระบบอยู่เกือบ 1 ชั่วโมง แต่ก็ยังเป็นแบบเดิม ไม่เฉพาะตนที่เข้าไม่ได้ แต่เพื่อนๆ ในห้องหลายคนก็เข้าไม่ได้เช่นกัน ก็พยายามเข้าต่อไป ไม่แน่ใจว่าเป็นที่สัญญาณโทรศัพท์หรืออะไรกันแน่
สำหรับการเรียนการสอนออนไลน์ในวันแรก ทางครูประจำชั้นโรงเรียนหลายแห่งได้ใช้วิธีตั้งไลน์กลุ่มสำหรับผู้ปกครองและนักเรียน มีการเช็กชื่อนักเรียนที่เข้าเรียนเหมือนกับเรียนในห้องปกติ และให้นักเรียนส่งภาพขณะเรียนมาให้ดูว่าสามารถเรียนได้หรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าไม่มีปัญหา สามารถเรียนผ่านออนไลน์ได้
ด้าน นายสายัณห์ บุญสม ผู้ปกครองนักเรียนรายหนึ่งในจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า ก็น่าสงสารผู้ปกครองที่มีฐานะลำบาก ไอ้เรามีลูกคนเดียวมันสบายหน่อย แต่ถ้าลูกหลายคนก็ต่างคนต่างเรียน ต่างระดับชั้นก็ต้องใช้โทรทัศน์ หรือโทรศัพท์มือถือกันคนละเครื่อง ถ้ามีไม่เพียงพอมารอกันเรียนก็คงจะลำบาก ถ้าไม่มีคนคุมนักเรียนชั้นอนุบาลหรือชั้นประถมศึกษา เด็กมันก็เล่นกัน ครอบครัวที่มีความพร้อมก็จะสามารถส่งเสริมลูกได้
ขณะที่อำเภอท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา เด็กๆ ต่างตื่นเต้น และยังไม่ค่อยเข้าใจระบบเรียนออนไลน์เท่าไร ซึ่งพื้นที่ท่าตะเกียบติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ระบบสัญญาณโทรคมนาคมจึงไม่ค่อยเสถียร การดาวน์โหลด หรือเปิดช่องสัญญาณ จึงยังต้องใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง ถึงจะเชื่อมต่อสัญญาณ
ขณะเดียวกัน ผู้ปกครองส่วนใหญ่จะมีอาชีพรับจ้างและเกษตรกรรม จึงต้องปล่อยให้เด็กๆ พึ่งครูแทน และปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับเด็กๆ นั่นคือ เด็กจะอยู่กับตา ยาย ที่ไม่รู้ถึงระบบเทคโนโลยี ดังนั้นผู้ปกครองเด็กจึงจะยังไม่สามารถช่วยสอนเด็กๆ ได้
ในช่วงเวลานี้คุณครูในทุกโรงเรียนต่างก็พยายามหาวิธีช่วยลูกศิษย์ตนเอง ในการจัดหาแบบเรียน และการแนะนำให้เด็กๆ จับกลุ่มมาเรียนรวมกันที่บ้านเพื่อนที่มีคอมพิวเตอร์ มีโน้ตบุ๊ก ที่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต
ส่วนที่ จังหวัดบึงกาฬ ผู้ปกครองได้ให้เด็กๆ เริ่มเรียนออนไลน์แล้ว โดยส่วนใหญ่พบว่าเรียนผ่านทีวีดาวเทียมระบบ C-Band (จานตะแกรง/จานดำ) ที่มีอยู่แล้วแทบทุกหลัง แต่พบปัญหาว่าบ้านบางหลังไม่สามารถรับชมได้ เนื่องจากเครื่องรับสัญญาณเก่าเกินไป ระบบค้นหาสัญญาณ(ota)ไม่มี ต้องเสียค่าใช้จ่ายเรียกช่างมาดู หรืออาจต้องเปลี่ยนเครื่องรับสัญญาณตัวใหม่เพื่อให้บุตรหลานได้เรียนหนังสือ