เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เป็นประธานว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างนโยบายยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยา โดยจะมี 5 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1.ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนายาสมุนไพร และยาชีววัตถุ ได้แก่ ยาในกลุ่มวัคซีน ฮอร์โมน 2.พัฒนาระบบและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงยาจำเป็น 3.พัฒนาระบบและกลไกให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล 4.พัฒนายาให้มีประสิทธิภาพระดับสากล และ 5.สร้างเสริมกลไกพัฒนาระบบยาแห่งชาติให้ประเทศมีความมั่นคงทางยาสามารถผลิตและจัดหายาในภาวะฉุกเฉินได้

“ทั้งนี้ สธ.จะเน้นเรื่องยาชีววัตถุ เพราะจากการประมาณการปี 2559 มีมูลค่าที่ผลิตได้ประมาณ 200 ล้านบาท เมื่อถึงปี 2565 คาดการณ์ว่าจะมีศักยภาพ ที่จะผลิตได้ถึง 3,000 ล้านบาท โดยมีโรงงานใหญ่ๆ 4 แห่ง คือ สยามไบโอไซเอนซ์ สภากาชาดไทย ไบโอเนท-เอเชีย และองค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ ซึ่งจะช่วยให้ สธ.เดินหน้าไปในทิศทางชีววัตถุได้ดี” เลขาธิการ อย.กล่าว

นพ.ไพศาล กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาประกาศกำหนดราคากลางยา 159 รายการ ซึ่งจากการประกาศครั้งนี้จะช่วยประหยัดงบประมาณปีแรกจำนวน 1,200 ล้านบาท และเมื่อครบ 3 ปี คือในปี 2565 จะช่วยรัฐประหยัดงบไปได้ประมาณ 5,000 ล้านบาท ทั้งนี้มีการผลักดันให้มียาสามัญทดแทนราคายาต้นแบบ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยา โดยมีการปรับปรุงบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งมียาสำคัญ เช่น ยามะเร็ง ให้ตอบสนองการดูแลด้านสุขภาพ ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงยาอย่างน้อย 40 รายการต่อปี ทั้งนี้ยังได้มีการพิจารณาเรื่องบัญชียาหลักของวัคซีน ที่จะสามารถทำให้มีทิศทางการพัฒนาในประเทศที่ดีขึ้น ช่วยสร้างความมั่นคงทั้งทางยาและวัคซีนในอนาคต เนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ถือเป็นตัวสำคัญที่ทำให้ต้องมองเรื่องศักยภาพและความมั่นคงอย่างชัดเจน

...

เลขาธิการ อย. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีการหารือถึงยาที่ใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 ที่พบว่ามีประมาณ 7 ตัว โดยในจำนวนนี้มี 6 ตัวที่ประเทศไทยสามารถผลิตเองได้ มีเพียงตัวเดียวเท่านั้นที่ไม่สามารถผลิตได้ภายในประเทศคือ ยาฟาวิพิราเวียร์ ดังนั้นองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จึงต้องมีการสั่งนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นและประเทศจีน ซึ่งถึงปัจจุบันไทยได้นำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์มาแล้วทั้งหมด 187,000 เม็ด และใช้ไปแล้วบางส่วน เหลือในสต๊อกประมาณกว่า 100,000 เม็ด เชื่อว่าน่าจะเพียงพอต่อความต้องการ อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงทางยา ล่าสุดทาง อภ.ได้มีการขอนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์จากต่างประเทศเพื่อนำมาผลิตเป็นยาสำเร็จรูปต่อไป คาดว่าน่าจะสามารถจัดหาวัตถุดิบและนำเข้ามาบรรจุเป็นยาใช้เองภายในประเทศได้เร็วๆนี้ จึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่าไทยจะมียาที่ใช้รักษาโรคโควิด-19 ได้เพียงพอ.