จากการเสวนาผ่านเฟซบุ๊กของกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) หัวข้อ “ผลกระทบของ COVID-19 ต่อการศึกษาไทย ภาพรวมและเสียงสะท้อนจากโรงเรียนชายขอบ” โดย ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ.ระบุว่า จากงานวิจัยขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD ได้ศึกษาผลกระทบของนักเรียนในช่วงการแพร่ระบาดของ โรคโควิด-19 พบว่า เด็กนักเรียนยากจนที่สุดมีเพียง 57% ที่เข้าถึงสัญญาณอินเตอร์เน็ต เพราะไม่มีเงินค่าสมัครสมาชิกหรืออยู่ห่างไกลกว่าที่สัญญาณจะเข้าถึง โดยหลายประเทศใช้การจัดสรรอุปกรณ์ Wi-fi แบบพกพาให้กับนักเรียนที่บ้านไม่สามารถเข้าถึงสัญญาณอินเตอร์เน็ต หรือจัดสรรงบประมาณให้ครัวเรือนยากจนมีเงินสมัครบริการอินเตอร์เน็ต เป็นต้น ส่วนการเผยแพร่ข้อมูลทางการศึกษาแบบทางไกลโดยใช้สื่อโทรทัศน์ จะเข้าถึงเด็กจำนวนมากได้ มีต้นทุนต่ำ
นายศุภโชค ปิยะสันติ์ ผอ.ร.ร.บ้านห้วยไร่สามัคคี อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ที่ปรึกษาเครือข่ายชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดาร โรงเรียนพื้นที่เกาะ กล่าวว่า นักเรียนส่วนหนึ่งที่เป็นชนเผ่า ผู้ปกครองไม่สามารถสอนการบ้านได้ อีกทั้งการเรียนออนไลน์ยังมีปัญหาเพราะเด็กที่มีความพร้อมมีเพียงแค่ 20% ซึ่งต้องออกแบบการสอนใหม่เกือบทั้งหมด ทั้งจำแนกเด็กที่จะเรียนออนไลน์ ทีวีทางไกล โดยวิธีการควรยืดหยุ่นซึ่งแต่ละโรงเรียนต้องวางแผนให้เหมาะกับบริบทของตัวเอง ด้านนายสยาม เรืองสุกใสย์ ผอ.ร.ร.ล่องแพวิทยา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เครือข่ายชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดาร กล่าวว่า ร.ร.ล่องแพวิทยา นักเรียนส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยง ทั้งเป็นนักเรียนยากจนพิเศษ 500 คน ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต ไม่มีไฟฟ้าใช้ ผู้ปกครองไม่มีเงินซื้อสมาร์ทโฟน ทำให้ไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ และเป็นเด็กชาติพันธุ์ที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สองที่สาม ดังนั้น พื้นที่พิเศษแบบนี้ต้องจัดการสอนแบบออฟไลน์ จัดเตรียมเอกสาร สื่อ อุปกรณ์ ครูนัดหมายลงพื้นที่จัดชั้นเรียนสลับไปแต่ละหมู่บ้าน และควรมีค่าพาหนะให้กับครูด้วย ซึ่ง ร.ร.บนพื้นที่สูงมีประมาณ 1,190 โรง ร.ร.บนเกาะ มีประมาณ 123 โรง.
...