ย้อนดูพฤติกรรมทางสังคมที่อาจเปลี่ยนไป แม้สถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลาย ทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงการออกไปใช้พื้นที่ส่วนรวมร่วมกับคนอื่น

ด้วยสถานการณ์ไวรัสโคโรนา หรือโรคโควิด-19 โรคระบาดร้ายแรงที่ทำให้ประเทศไทย และประเทศทั่วโลก ตื่นตัว สลัดคำว่า "ไม่ใช่โรคที่น่ากลัว" ออกไป พร้อมวาง "มาตรการป้องกัน" ในการต่อสู้ และรักษาผู้ป่วยแทน ซึ่งก็ส่งผลทำให้หลายคนต้องปรับตัวในการใช้ชีวิตประจำวัน ในการทำงาน การปฏิบัติตัว หากต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม จนเริ่มจะกลายเป็นความเคยชิน

ทั้งนี้ หากย้อนดูพฤติกรรมด้านสังคมที่เปลี่ยนไปของคนในประเทศ จะพบว่า มีการปรับตัวเพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้รับเชื้อจากผู้อื่น และการป้องกันตัวเองไม่ให้แพร่เชื้อให้ผู้อื่น ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

  • การใช้ชีวิตประจำวัน

เพราะทุกคนยังต้องดำเนินชีวิตภายใต้ความระมัดระวัง นอกจากเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย และการพกเจลแอลกอฮอล์ล้างมือแล้ว Social distancing หรือ การเว้นระยะห่างทางสังคม 1-2 เมตร ถือเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น เนื่องจากไวรัสนั้นสามารถติดต่อได้ผ่านละอองขนาดเล็กที่มาจากการไอหรือจามได้ ซึ่งถ้าหากอยู่ใกล้ชิดกันเกินไป ก็อาจจะสูดเอาไวรัสเข้าร่างกายได้ ซึ่งหากโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่นเมื่อไร เราอาจจะได้เห็นคนรักษาระยะห่างกันมากขึ้น

...

  • การซื้อของออนไลน์

ด้วยความจำเป็นที่หลายคนต้องกักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน หรือการประกาศปิดห้าง ปิดร้านค้า ทำให้หาซื้อสินค้าจำเป็นได้ยาก ทำให้ผู้บริโภคหันมาซื้อของออนไลน์มากขึ้น นอกจากสะดวกแล้วยังส่งตรงถึงบ้าน โดยที่เราไม่ต้องเดินทางออกไปข้างนอกให้เสี่ยงต่อการรับเชื้อด้วย

ขณะที่ร้านค้าต่างๆ เอง ก็ต้องปรับตัวมาทำการขายออนไลน์ เจาะให้ถึงกลุ่มลูกค้าของตัวเองมากขึ้น ซึ่งก็พบว่าในช่วงวิกฤติโควิด-19 สินค้าจำเป็นสามารถปรับตัวและขายได้อย่างต่อเนื่อง ตามความต้องการที่มากขึ้น ขณะที่สินค้าไม่จำเป็น หรือสินค้าฟุ่มเฟือย ก็ขนโปรโมชั่นมาทำการตลาด เพื่อรักษาฐานของลูกค้าตัวเองเอาไว้

ซึ่งกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย การซื้อของออนไลน์ อาจกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการซื้อของ ของใครหลายๆ คนไปแล้วก็ได้

  • เข้าบ้านก่อน 4 ทุ่ม

พฤติกรรมนี้อาจเป็นผลมาจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือที่หลายคนเรียกว่า เคอร์ฟิว จำกัดการห้ามออกจากเคหสถานหลัง 22.00-04.00 น. ของทุกวัน เพื่อลดการระบาดของเชื้อ "โควิด-19" ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้หลายคนใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้นกว่าเดิม

ไม่แน่ว่า หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และรัฐบาลผ่อนปรนมาตรการต่างๆ แล้ว คนจะเริ่มเคยชินกับการอยู่กับบ้านมากกว่าใช้ชีวิตนอกบ้านแล้วกลับค่ำมืด

  • เบรกปาร์ตี้ สังสรรค์

เป็นที่รู้กันดีว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทย ซึ่งติดกันเป็นกลุ่มก้อน นอกจากสนามมวยแล้ว ก็มาจากสถานบันเทิง โดยการดื่มแอลกอฮอล์แก้วเดียวกัน นั่งรวมกลุ่มกันในที่แออัดเป็นเวลานานๆ ซึ่งผลจากการปิดสถานบันเทิง ซึ่งถือเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 นั้น ก็ทำให้คนต้องงดการสังสรรค์ในช่วงนี้ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อด้วย

และแม้ว่าสถานการณ์จะคลี่คลายแล้ว แต่การงดปาร์ตี้ สังสรรค์ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ยังจำเป็น เนื่องจากเราไม่รู้เลยว่า ในสถานที่ดังกล่าวจะมีผู้ที่มีเชื้อโควิด-19 ที่ยังอยู่ในระยะฟักตัว และยังไม่แสดงอาการอยู่หรือไม่

  • ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น

ช่วงวิกฤติโควิด-19 จะสังเกตได้ว่า คนหันมาสนใจในเรื่องสุขภาพมากขึ้น สังเกตอาการของตัวเอง แม้บางคนอาจจะเข้าขั้นวิตก แต่ก็มองได้ว่า ไม่อยากประมาท นอกจากนี้ก็หันมาเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงขึ้น ทั้งเรื่องอาหารการกิน กินร้อน ช้อนตัวเอง ล้างมือ การออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่งการทำประกันชีวิต 

  • Work From Home

หลายองค์กรอาจจะใหม่กับการทำงานที่บ้าน แต่ด้วยสถานการณ์ที่จำเป็น ทำให้พนักงาน และองค์กรต้องจับมือปรับตัวไปพร้อมๆ กัน โดยใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่มาช่วยให้การติดต่อประสานงาน ทำได้ง่าย และสะดวกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการประชุมออนไลน์ การติดตามงาน หรือแม้กระทั่งการส่งต่องานระหว่างแผนก

ซึ่งหลังจากหมดโควิด-19 ไปแล้ว แม้ว่าหลายบริษัทจะยกเลิกการทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home แต่เชื่อว่า การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานคงจะมีมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในอนาคต โควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น หรือระบาดตามฤดูกาล แต่ทุกคนก็ยังต้องระวัง ป้องกันตัวเอง เนื่องจากตอนนี้ยังไม่มีวัคซีนที่ป้องกัน หรือรักษาโรคโควิด-19 ได้ ดังนั้นการเริ่มปรับตัวให้เกิดความเคยชิน ถือเป็นเรื่องจำเป็น เพราะคงไม่อยากได้รับเชื้อ หรือต้องการเป็นคนแพร่เชื้อให้ผู้อื่น.