เปิดความหมาย การ "รดน้ำดำหัว" ผู้ใหญ่ วันสงกรานต์ ขอขมา และขอพร เพื่อเป็นสิริมงคล เริ่มต้นปี ปีนี้ขอความร่วมมือปรับรูปแบบ งดรดน้ำ ใช้โทรขอพร แทนการไปหา
แม้สงกรานต์ปีนี้ ตามถนนหนทางจะดูเงียบเหงา เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการรณรงค์ให้ทุกบ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ เลื่อนวันหยุด "สงกรานต์" งดเว้นการจัดงานสงกรานต์ในทุกระดับ, งดเว้นการเดินทางกลับภูมิลำเนา, งดเว้นการรดน้ำญาติผู้ใหญ่ทุกกรณี และงดการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก หรือเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเด็ดขาด
"เทศกาลสงกรานต์ 2563" แม้ปีนี้ วันหยุดจะถูกเลื่อนออกไป ซึ่งรัฐบาลเปรยว่า จะชดเชยให้ทีหลัง แต่ก็ไม่รู้ว่าจะอนุญาตให้เล่นน้ำได้หรือเปล่า อันนี้ต้องรอกัน แต่หากได้หยุดแล้ว ก็อย่าลืมกลับไป "รดน้ำดำหัว" พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ประเพณีที่สืบทอดกันมาหลายยุคสมัย เพื่อความเป็นสิริมงคล
ซึ่งประเพณี "รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่" เป็นพิธีโบราณของทางเหนือ โดย "รดน้ำดำหัว" เป็นการไปรดน้ำขอขมาและขอพรจากผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถือ ในอดีต การรดน้ำ คือ การอาบน้ำจริงๆ ส่วน ดำหัว เป็นภาษาล้านนาดั้งเดิม หมายถึง การสระผม ซึ่งก็เป็นการไปสระผมให้ผู้ใหญ่ โดยใช้น้ำส้มป่อย หรือน้ำมะกรูด
...
ความหมายของ "การรดน้ำดำหัว" นอกจากจะเป็นการขอพรจากผู้อาวุโส เพื่อความเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นปีใหม่ไทยแล้ว ยังมีความหมายแฝงอีกอย่างคือ การแสดงความเคารพต่อบิดา มารดา ผู้ใหญ่ หรือผู้มีพระคุณ เพื่อขอโทษต่อสิ่งที่เคยล่วงเกิน ทั้งกาย วาจา ใจ ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ ไม่ว่าจะต่อหน้าหรือว่าลับหลัง
โดยในอดีต พิธีรดน้ำดำหัวมีอยู่ด้วยกัน 3 แบบ แบบที่หนึ่ง การดำหัวตนเอง เป็นพิธีเสกน้ำส้มป่อยด้วยคำที่เป็นสิริมงคล เช่น "สัพพทุกขา สัพพภยา สัพพโรคาวินาสันตุ" แล้วใช้น้ำส้มป่อยลูบศีรษะเพื่อชำระล้างสิ่งไม่ดีออกไป
แบบที่สอง ดำหัวผู้น้อย เช่น ภรรยา บุตร หลาน เป็นพิธีกรรมต่อเนื่องจากแบบแรก คือ ใช้น้ำส้มป่อยลูบศีรษะภรรยา บุตร หลาน หลังจากดำหัวตนเอง
และ แบบที่สาม ดำหัวผู้ใหญ่ เช่น บิดา มารดา ครู อาจารย์ พระเถระ ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นต้น กรณีนี้อาจไปดำหัวด้วยตนเอง บางครั้งอาจพาญาติพี่น้องไปเป็นกลุ่ม หรือไปเป็นคณะ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพนับถือของชุมชน
ขณะที่ การรดน้ำดำหัวในปัจจุบัน จะกระทำกันในวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ หรือ วันเถลิงศก เพียงวันเดียว โดยบุตรหลานของผู้สูงอายุไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็จะกลับมาบ้านเกิดเพื่อรวมตัวกัน รดน้ำดำหัว และขอพรจากผู้สูงอายุ
สิ่งของที่จะนำไปทำการขอสูมาลาโทษ และขอพรจากผู้สูงอายุ ประกอบด้วย น้ำอบน้ำหอม น้ำส้มป่อย เทียน ดอกไม้ ของขวัญ เงิน หรือของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ผู้ไปดำหัวจะกล่าวคำขอขมาลาโทษ ขอให้อโหสิกรรมให้ และอวยพรให้ท่านประสบแต่ความสุข สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง
จากนั้นจะเอาขันเล็กๆ ตักน้ำหอม น้ำปรุง นำมารดที่ฝ่ามือของญาติผู้ใหญ่ ก่อนที่ญาติผู้ใหญ่นำน้ำหอม น้ำส้มป่อย ขึ้นลูบศีรษะ เป็นการยอมรับการขอขมาและอโหสิกรรม แล้วกล่าวให้ศีลให้พร
นอกจากการ รดน้ำดำหัว ญาติผู้ใหญ่แล้ว ยังมีการรดน้ำดำหัวพระสงฆ์ ซึ่งลักษณะจะคล้ายๆ กัน แต่มีพิธีการมากกว่า คือ ก่อนที่จะรดน้ำพระสงฆ์ จะต้องรดน้ำพระพุทธรูปก่อน แล้วจึงรดน้ำดำหัวพระภิกษุสงฆ์ จากนั้น ก็รับพรจากพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งนิยมทำตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์
ซึ่งประเพณี "รดน้ำดำหัว" ถูกสืบทอดต่อกันมา และแพร่ไปทุกภูมิภาค นอกจากทำเพื่อขอขมาญาติผู้ใหญ่แล้ว ยังเป็นการชำระสะสางสิ่งอัปมงคลออกไปจากชีวิต เตรียมพร้อมรับสิ่งดีๆ ที่จะเข้ามาในชีวิตด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ "สงกรานต์" ปีนี้ จะไม่ได้กลับไป "รดน้ำดำหัว" ญาติผู้ใหญ่ แต่เราสามารถปรับรูปแบบ เปลี่ยนไปใช้การโทร หรือวิดีโอคอล ขอพรแทนได้ และอยากให้คิดในแง่ดีว่า การที่คนหนุ่มสาวไม่กลับไปรวมตัว สังสรรค์ แออัดอยู่กับผู้สูงอายุ เป็นเหมือนคำอวยพรให้ญาติผู้ใหญ่มีสุขภาพที่แข็งแรง ห่างไกลโรคภัยที่เรามองไม่เห็น.