โควิด-19 ทำส่งออกสะดุด ชาวนาหว้าระทม "ตุ๊กแกตากแห้ง" นอนนิ่งในลังรอวันไปจีนอีกครั้ง เผย น้ำแล้งทำเกษตรก็ลำบาก ส่งออกของแปลกก็ไม่ได้ หนี้สินผ่อนส่งธนาคารคงจะไม่มี
เมื่อวันที่ 1 เม.ย.63 ที่บ้านตาล ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม ซึ่งถือเป็นหนึ่งเดียวในไทย ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น หมู่บ้านอาชีพปริศนา ที่ยึดถือสร้างรายได้ มากว่า 20-30 ปี โดยช่วง ฤดูฝน จะมีการแปรรูป ปลิง ส่วนฤดูหนาว จะมีการรับซื้อไส้เดือนแปรรูป ตากแห้ง ส่วนฤดูร้อนจะรับซื้อตุ๊กแกไปตากแห้งเพื่อส่งออกขายไปยังประเทศจีน และไต้หวัน เพื่อนำไปปรุงเป็นยา สร้างรายได้ หมุนเวียนสะพัด ปีละ 50 – 100 ล้านบาท สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านมายาวนาน
นายยงยุทธ ปาทา อายุ 56 ปี รองนายก อบต.นาหว้า กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด-19 ปรากฏว่า จีน และไต้หวัน ไม่รับซื้อแบบไม่มีกำหนด ส่งผลให้ชาวบ้านขาดรายได้ เพราะไม่สามารถที่จะส่งออกไปขายได้ โดยบางราย มีการแปรรูปไว้ล่วงหน้า บางส่วนต้องขาดทุน และหาทางระบายสต๊อก
...
นอกจากนี้ ปีนี้แล้งน้ำมาก ทำให้การทำเกษตรกรรมแย่ลงไปอีก ชาวบ้านต้องแบกภาระหนี้สิน ทั้งภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน รวมถึงหนี้สินของสถาบันทางการเงิน ที่นำเงินมาลงทุน ยิ่งช่วงนี้หลังเกิดโรคระบาดกระทบทุกด้าน ไปไหนมาไหนลำบาก ซ้ำร้ายยังไม่สามารถทำอาชีพที่สร้างรายได้มาตลอด ยิ่งเดือดร้อนหนัก ซึ่งจะต้องหาทางทำอาชีพเสริมชดเชย เพราะไม่แน่ใจว่าจะมีการปิดรับออเดอร์ไปนานแค่ไหน
โดยปกติ ไส้เดือนตากแห้ง จะส่งออกกิโลกรัมละ 200-250 บาท แต่ละปีจะมีรายได้สะพัดไม่ต่ำกว่า 30-40 ล้านบาท ส่วนตุ๊กแกแปร รูปส่งออก ประมาณตัวละ 40-50 บาท ตามขนาด แต่ละปีจะมีรายได้ หมุนเวียนจากอาชีพ ตุ๊กแกตากแห้ง ส่งออกปีละ 30-40 ล้านบาท บางครอบครัวสามารถทำเงินเดือนละ 40,000-50,000 บาท จากการขายเมนูแปลกๆ นี้ซึ่งหลังจากเกิดวิกฤติโควิด ทำให้ชาวบ้านอาชีพแปลก ฝันสลาย บางรายแบกภาระหนี้สิน ต้องหาอาชีพอื่นมาชดเชย