สธ.แถลง ระบุ 2 ผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิต ไม่พบมีโรคประจำตัว กำลังวิเคราะห์สาเหตุ ขณะที่ 23 รายที่มีอาการสาหัส ประมาณครึ่งหนึ่งไม่พบสูงอายุ หรือมีโรคร่วม
จากกรณี นายแพทย์อนุพงศ์ สุจริยากุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 แถลงสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 ประจำวันที่ 30 มีนาคม 2563
โดยสถานการณ์ในประเทศไทยวันนี้มีผู้ป่วยยืนยันเพิ่มขึ้น 136 ราย กลับบ้านได้เพิ่ม 16 ราย รวมกลับบ้านแล้ว 127 ราย ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 1,388 ราย โดยเป็นผู้ป่วยอาการหนัก 23 ราย เสียชีวิต 2 ราย รวมเสียชีวิตแล้ว 9 ราย ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,524 ราย ถือเป็นรายที่ 1,389 - 1,524 อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยอยู่ที่ 40 ปี โดยผู้ป่วยวันนี้มาจาก 18 จังหวัด
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบ พบว่าผู้ป่วยที่เสียชีวิตทั้ง 2 รายนี้ เป็นผู้ป่วย ที่ไม่มีโรคประจำตัว ซึ่งทางแพทย์กำลังดูรายละเอียดว่า ทำไมผู้ป่วยทั้ง 2 คน ถึงมีอาการรุนแรง และเสียชีวิต เป็นไปได้หรือไม่ว่า อาจจะมาโรงพยาบาลช้าไป
ทั้งนี้ ก่อนหน้าพบว่า มีผู้ป่วยบางราย ที่ไม่ยอมบอกว่า ตัวเองป่วย และไปในพื้นที่เสี่ยงที่ไหนมาบ้าง ซึ่งทาง สธ. พูดอยู่เสมอว่า อยากให้แสดงตัวออกมา จะได้ให้การรักษาอย่างเหมาะสมได้ทันท่วงที
ส่วนคนที่มีอาการสาหัส จำนวน 23 คนนั้น พบว่า ส่วนใหญ่อายุ 60 ขึ้นไป และมีโรคร่วม ส่วนคนที่อายุไม่เยอะ และไม่มีโรคร่วม แต่อาการสาหัส สำคัญที่สุด อยู่ที่การวินิจฉัยเร็ว หากผู้ป่วยแสดงตัว เราจะได้รักษาได้ถูกต้อง โดยเมื่อป่วยโควิด-19 แล้ว ร่างกายจะไม่มีภูมิคุ้มกัน ถ้าร่างกายจัดการได้ไม่ดี ก็จะทำให้อาการหนักมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 ปัจจัยหลัก ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการสาหัส คือ จำนวนเชื้อที่เข้าไปในร่างกาย หากร่างกายได้รับเชื้อเยอะ อาจจะลงไปที่ปอด ซึ่งเป็นอันตรายได้ และร่างกายของแต่ละคน ที่ไวต่อเชื้อที่ทำให้เกิดโรคแตกต่างกัน.
...