เร่งระดมนักวิชาการเตรียมพร้อมจัดเรียนที่บ้าน ชี้เพิกเฉยวุ่นวายแน่

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากการสำรวจการรับรู้สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 กับสุขภาวะของเยาวชน ซึ่งพบว่าเด็กและเยาวชนกังวลว่าตนจะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เกิดภาวะเครียด ไม่กล้าออกจากบ้าน ทั้งมีความไม่เชื่อมั่นต่อมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคนั้น ผลโพลแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสนใจเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ นักท่องเที่ยว การส่งออก โดยไม่ได้สนใจผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะมาตรการการปิดสถานศึกษาทันที โดยขาดคำอธิบายและแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ส่งผลให้เด็กเกิดความเครียด วิตกกังวลตามมา อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการหยุดเรียน ขณะที่พ่อแม่บางส่วนต้องทำงานที่บ้าน ซึ่งจะทำให้เกิดความสัมพันธ์ในครอบครัว และต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งตนอยากเสนอแนวทางให้ครอบครัวหันมาจัดการเรียนรู้ในลักษณะโฮมสกูล หรือการเรียนรู้โดยครอบครัว เช่น ฝึกทักษะลูกหลานให้รู้เท่าทันสื่อ โดยหยิบยกข้อมูลเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่าข้อมูลใดเป็นข่าวจริง หรือข่าวปลอม, จัดชั่วโมงการอ่านหนังสือร่วมกัน เช่น วรรณกรรมไทย วรรณกรรมเยาวชน, ชั่วโมงการปฏิบัติจริง เช่น ทำกับข้าว ปลูกต้นไม้ รวมทั้งชั่วโมงการออกกำลังกาย ที่สำคัญควรมีชั่วโมงการทำสมาธิ สวดมนต์ เพื่อฝึกสุขภาวะทางจิตใจของเด็กให้จิตใจสงบ คลายความเครียด

“หากสถานการณ์ของโรคไวรัสโควิด-19 ยังคงยืดเยื้อและทำให้เราไม่สามารถเปิดภาคเรียนได้ตามกำหนด ผมขอเสนอให้นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ระดมผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตร ด้านการประเมิน นักเทคโนโลยี ผู้เชี่ยวชาญการออกแบบการเรียนรู้ และอื่นๆของการศึกษาทุกระดับ ทั้งเด็กเล็ก ประถม มัธยม อาชีวะ การศึกษานอกโรงเรียน เพื่อช่วยกันออกแบบการเรียนรู้ที่บ้านของนักเรียน ซึ่งอาจต้องใช้หลักการการเรียนแบบกลับหัว คือ เดิมเรียนส่วนใหญ่ที่โรงเรียน ใช้เวลาส่วนใหญ่พูดคุยกับครู และกลับมาทำการบ้านหรือโครงงาน ก็กลับหัวเป็น เรียนรู้ที่บ้าน แล้วนัดหมายกับครูเป็นกลุ่มเล็กๆ มาอภิปรายสิ่งที่สงสัยกับครู หรือครูจัดทำคลิปการสอนสั้นๆส่งให้นักเรียน เป็นต้น โดย ศธ.ควรใช้ช่วงปิดเทอม 2 เดือนนี้เตรียมการให้พร้อมก่อนเปิดเทอม หากไม่เตรียมการจะเกิดความวุ่นวายสับสนมากตอนเปิดภาคเรียน” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว.

...