ขอประเมินเลื่อนเปิดเทอม โรงเรียนเอกชน
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ขยายวงกว้างทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม อว.เล็งเห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อบุคลากร นิสิต นักศึกษา ประชาชน และผู้ประกอบการในสถานศึกษา ดังนั้นจึงได้ออกประกาศกระทรวงขอความร่วมมือจากสถาบันอุดมศึกษาในสังกัด อว.ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายจากพิษเศรษฐกิจในช่วงนี้
ดร.สุวิทย์กล่าวต่อว่า
1.ให้หน่วยงานและสถาบันอุดมศึกษาลดค่าเช่าพื้นที่แก่ผู้ประกอบการรายย่อยลง ระยะเวลา 6 เดือน
2.ให้สถาบันอุดมศึกษาลดค่าธรรมเนียมต่างๆที่เรียกเก็บจากนักศึกษาในภาคการศึกษาที่จะถึงนี้ เป็นกรณีพิเศษ
3.ให้สถาบันอุดมศึกษาพิจารณาปรับลดค่าตอบแทน ค่าเบี้ยประชุมและค่าใช้จ่ายอื่นๆในการบริหารลง เพื่อนำงบฯ ดังกล่าวไปเพิ่มการจ้างงานนักศึกษา และบุคคลทั่วไปในกิจการของสถาบันอุดมศึกษาเป็นระยะเวลา 6 เดือน
4.ให้สถาบันอุดมศึกษาพิจารณาจัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ช่วงภาวะวิกฤติ
5.ให้อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย และอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค รวมทั้งเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย และเมืองนวัตกรรมอาหาร พิจารณาปรับลดค่าบริการต่างๆที่เรียกเก็บจากเอสเอ็มอี สตาร์ตอัพและประชาชนทั่วไปเป็นกรณีพิเศษ และ
6.ให้หน่วยงานและสถาบันอุดมศึกษา พิจารณากำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมตามความเหมาะสมต่อไป
...
ด้านนายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวว่า สำหรับนักเรียนโรงเรียนเอกชนที่ผู้ปกครองประกอบอาชีพเกี่ยวกับบริษัทเดินเรือ หรือเป็นพนักงานสายการบินที่เดินทางไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยง ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่าเด็กกลุ่มนี้อาจจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่นั้น สช.ได้ติดตามเรื่องดังกล่าวพบว่า ผู้ปกครองกลุ่มนี้ดำเนินการตามมาตรการของ สธ. และไม่ได้เดินทางมาพบกับบุตรหลานจึงไม่มีอะไรที่น่ากังวล อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รุนแรงมากขึ้น สช.จะประเมินสถานการณ์แบบรายวันว่าจะเลื่อนเปิดภาคเรียนปี 2563 หรือไม่อย่างไร โดยจะหารือนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) ก่อน.