ดร.ธเนศ เกษศิลป์ จากคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ม.มหิดล เผยผลการวิจัยเรื่องารศึกษาวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและพื้นที่จุดเสี่ยงต่อการกระทำความผิดของเด็ก และเยาวชนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า งานวิจัยนี้เป็นหนึ่งในโครงการวิจัยท้าทายไทย กลุ่มกระบวนการยุติธรรมรองรับ 4.0 โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับโรงเรียนนายร้อยตำรวจ สรุปผลดังนี้ จากการศึกษาพื้นที่ที่เป็นจุดเสี่ยงในคดี 4 ประเภท ได้แก่ คดียาเสพติด คดีเกี่ยวกับทรัพย์ คดีเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย และคดีเกี่ยวกับการแข่งขันรถจักรยานยนต์ จำนวน 30 จุดเสี่ยง ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ในแหล่งชุมชนแออัด สถานบันเทิง ร้านสะดวกซื้อที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง และพื้นที่ตรอกซอกซอยที่แสงไฟส่องสว่างไม่เพียงพอ

ดร.ธเนศ กล่าวต่อว่า งานการวิจัยมีข้อเสนอแนะต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กทม.และชุมชนคือ ควรมีการจัดทำนโยบายบูรณาการแก้ไขและปรับภูมิทัศน์ในแต่ละพื้นที่ให้เหมาะสมร่วมกัน โดยควรมีการสรุปพื้นที่ที่เป็นจุดเสี่ยงต่อการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนเป็นประจำ พร้อมทั้งประเมินและติดตามการปรับภูมิทัศน์ต่างๆอย่างต่อเนื่อง ควรมีการกำหนดนโยบายตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการทุกประเภทที่อาจมีส่วนสนับสนุนการกระทำผิดของเด็กและเยาวชน ควรมีการตรวจสอบและเฝ้าระวังสื่อโซเชียลมีเดียที่เป็นช่องทางในการนัดหมาย รวมกลุ่มเพื่อกระทำความผิดอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ จากการวิจัยได้มีมาตรการพัฒนาสภาพแวดล้อมและลดพื้นที่จุดเสี่ยงโดยมอบให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล 1-9 นำไปประยุกต์ใช้ในการวางแผนควบคุมปัญหาการกระทำความผิดของเด็กและ เยาวชนใน กทม.ได้อย่างมีประสิทธิภาพ.