ปมในเพจที่เปิดคอร์สสอนคนติดเชื้อเอชไอวีมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย ไม่สามารถแพร่เชื้อให้คู่นอนได้นี้ กลายเป็นความสับสนกันอยู่ จึงต้องมาคลายปมข้อสงสัยนี้ให้กระจ่างกัน
ถ้ามองอีกมุม...เรื่องนี้ก็มีสาระในการกระตุ้นสังคมให้ตระหนักถึง “หยุดการแพร่เชื้อเอชไอวี” และปลุกกระแสกลุ่มเสี่ยงตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างเร็วที่สุด ด้วยยาต้านไวรัส จะทำให้ตรวจเลือดต่อไปไม่พบเชื้อ และไม่สามารถแพร่กระจายเชื้อเอชไอวีให้ใครได้...
กระทั่งเกิดปรากฏการณ์...“ทฤษฎี U เท่ากับ U” (Undetectable= Untransmittable (U=U)) ที่เรียกว่า “ไม่เจอเท่ากับไม่แพร่” มิติใหม่แห่งการ “หยุดติดเชื้อเอชไอวี” ที่เป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ทางวิชาการ...ผู้ติดเชื้อที่ได้รับยาต้านไวรัสจนปริมาณเชื้อเอชไอวีในเลือดมีปริมาณต่ำกว่า 200 ตัวต่อซีซีของเลือด
ผู้ติดเชื้อคนนั้น...ไม่ใส่ถุงยางอนามัย ก็ไม่สามารถถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีให้กับคู่นอนได้ แต่การไม่ใส่ถุงยางอนามัยนี้ก็ยังมีโอกาสเสี่ยงกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อยู่เสมอ
...
เรื่อง “ทฤษฎี U เท่ากับ U” ที่ไม่แพร่กระจายเชื้อเอชไอวีทางเพศสัมพันธ์นี้ได้รับคำแนะนำมาจาก ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผอ.ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลว่า ในประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ปีละประมาณ 7,000 คน มีการเสียชีวิตปีละ 18,000 คน หรือคิดเป็น 3 เท่าของผู้ติดเชื้อรายใหม่
แต่สถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่นี้ลดลงกว่าช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้ และในปี 2563 ต้องบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน ในการยุติการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ร้อยละ 10 ตามที่กำหนดไว้ ซึ่งหน่วยงานรับผิดชอบต่างมีวิธียุติการแพร่เชื้ออยู่แล้ว
สาเหตุที่ยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่นี้...เพราะไม่ใส่ถุงยางอนามัย และรับเชื้อจาก “คนไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง” ที่เคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นจนติดเชื้อเอชไอวีแบบไม่รู้ตัว ทำให้นำเชื้อมาแพร่กระจายสู่คนอื่นต่อกันเรื่อยๆ
เมื่อมีข้อมูลลักษณะนี้ จำเป็นต้องค้นหาผู้ติดเชื้อไม่รู้ตัวเพื่อเข้าสู่กระบวนการกินยาต้านไวรัส
เพราะถ้ากินยาต้านครบ 6 เดือน ร้อยละ 95 จะมีเชื้ออยู่ในร่างกายเหลือน้อยมาก จนตรวจไม่พบเชื้อ และไม่สามารถแพร่เชื้อให้บุคคลอื่นได้ ที่เรียกกันว่า...“Uเท่ากับU” หรือ “ไม่เจอเท่ากับไม่แพร่” ดังนั้นหัวใจสำคัญในการยุติการแพร่เชื้อเอชไอวี คือ นำผู้ติดเชื้อมากินยาให้ได้ ด้วยการตรวจเลือดค้นหาการมีเชื้อนี้
ปัญหามีอยู่ว่า...“คนไทย” ไม่นิยมตรวจเลือด คิดว่า...ตัวเองไม่มีความเสี่ยง ทั้งที่จริงแล้ว...ทุกคนต่างเสี่ยงแบบไม่รู้ตัวเท่ากัน เพราะหากเจอเชื้อเร็ว...ได้รักษาเร็ว ในการรับยาต้านไวรัส จนสามารถยุติการแพร่เชื้อเอชไอวีได้...ซึ่งเป็นทฤษฎีใช้ควบคุมการแพร่กระจายเชื้อเอชไอวี ในการรักษาด้วยการป้องกันให้ดีที่สุด
ประการต่อมา...บุคคลตรวจเลือดไม่พบเชื้อก็อย่าชะล่าใจ เพราะช่วงเวลาการตรวจทุก 3 เดือน หรือ 6 เดือน มีระยะเว้นห่างนานพอสมควร ในช่วงนี้อาจติดเชื้อก็ได้ จากพฤติกรรมเสี่ยงที่ไม่ใส่ถุงยางอนามัย เมื่อติดเชื้อเอชไอวี ก็มีโอกาสแพร่ต่ออีก ทำให้ป้องกันพฤติกรรมความเสี่ยงนี้...การใช้ “เพร็พ” หรือ Preexposure prophylaxis
เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันติดเชื้อดีมาก ถ้าหากกินยาตามคำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ แต่ปัญหา “คนมีความเสี่ยง” แต่คิดว่า...ตัวเองไม่มีความเสี่ยง มีอยู่ถึงร้อยละ 40 จึงไม่จำเป็นต้อง “กินยาเพร็พ” ทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้นตามมา...
อีกทั้งยังมี “เป็ป” หรือ PEP (Post-Exposure Prophylaxis) ที่เป็นยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ในกรณีฉุกเฉินต้องกินให้เร็วใน 72 ชม.หลังสัมผัสความเสี่ยงติดเชื้อ และกินติดต่อกัน 28 วัน ใช้ในกรณีมีเพศสัมพันธ์กับผู้มีเชื้อเอชไอวี ไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยหรือถุงยางอนามัยหลุดหรือฉีกขาด หรือการถูกล่วงละเมิดทางเพศ
ประชาชนทั่วไปต้องประเมินความเสี่ยงตัวเอง และกล้าตรวจเลือด เพราะทุกคนมีความเสี่ยง หากตรวจเลือดพบเชื้อเอชไอวีเร็ว...รักษากินยาต้านไวรัสเร็ว และ “กินยาเพร็พ” ก่อนมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่น ทำให้ตัดวงจรการแพร่กระจายของเชื้อเอชไอวีได้เป็นอย่างดี
โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงหลัก...มุ่งเป้าไปยังสถานบริการชายกับชายมีความเสี่ยงสูงร้อยละ 60 ส่วนสถานบริการของชายกับหญิงร้อยละ 10 และหญิงขายบริการนอกระบบร้อยละ 30 นับตั้งแต่ปี 2563 รัฐบาลได้ประกาศให้บุคคลเสี่ยงสามารถ “รับยาเพร็พฟรี” ตามโรงพยาบาลในจังหวัด 52 แห่งทั่วประเทศ
เร็วๆนี้กำลังจะมีชุดตรวจเชื้อเอชไอวี สามารถซื้อตามร้านขายยาทั่วไป เพื่อนำมาตรวจเบื้องต้นกันเองได้ด้วย ซึ่งรัฐบาลเห็นชอบแล้ว แต่อยู่ระหว่างพิจารณาบริษัทผลิตที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
แม้ว่า...ปัจจุบันมีวิวัฒนาการในการป้องกันเชื้อเอชไอวี ทั้งการกินยาต้านไวรัส จนไม่สามารถแพร่เชื้อกับคู่นอนได้ หรือมี “ยาเพร็พ” ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี แต่การมีเพศสัมพันธ์ “เอาสดหมดเปลือก” ก็ยังมีความเสี่ยง โดยไม่ป้องกันที่อาจทำให้ติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ และยังมีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีดื้อยาด้วย
ยกตัวอย่าง...โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทั้งซิฟิลิส หนองในแท้ หนองในเทียม และไวรัสตับอักเสบซี อีกทั้งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางโรคมักไม่มีอาการ...สามารถแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่นที่มีการระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สูงขึ้น ในบางรายมีโอกาสติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ดื้อยาด้วยซ้ำ
แนวคิดการมีเพศสัมพันธ์...แบบไม่ใส่ถุงยางอนามัย กำลังมีการสื่อสารนำเสนอตีความหมายในทางที่ผิด ทำให้สังคมเกิดความสับสน และอาจจะสร้างความเสียหายในอนาคต เพราะทางการแพทย์ไม่ต้องการให้มีผู้ป่วยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทั้งสิ้น
ดังนั้น การใช้ถุงยางอนามัยยังมีความสำคัญ เพราะป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ทุกโรค ส่วนการใช้ “เพร็พ” หรือ “U เท่ากับ U” ถือว่าเป็นเกราะเสริมชั้นสองในการป้องกันเฉพาะเชื้อเอชไอวีเท่านั้น หากจะให้ดี...ควรใช้ควบคู่กัน โดยเฉพาะวัยรุ่น ชายกับชาย หรือชายกับหญิงที่มีความเสี่ยงสูง
“โรคเอดส์” นับว่าโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มา 40 ปี ตอนนี้กำลังจะเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เพราะผู้ติดเชื้อได้รับยาทั่วถึง มีกระบวนการรักษาดีขึ้น จนตรวจไม่พบเชื้อ และไม่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ ที่มีอายุยืนยาวเสมือนไม่ติดเชื้อ แต่ยังต้องกินยาไปตลอดชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นหลัก “U เท่ากับ U” ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ ว่า
สำหรับ “U เท่ากับ U” คือ ผู้มีเชื้อเอชไอวีกินยาต้านไวรัสสม่ำเสมอ ระยะเวลาเกิน 6 เดือนขึ้นไป จะมีปริมาณไวรัสในเลือดต่ำกว่า 50 copies ต่อซีซีของเลือด ที่เราเรียกกันว่า ตรวจไม่เจอ (undetectable) ซึ่งไม่ได้แปลว่า...เชื้อหมดจากร่างกายแล้ว เพียงแต่มีเหลือน้อยมากจนชุดทดสอบตรวจไม่เจอ เพราะยาต้านไปกดเชื้อไว้
ถ้าหยุดกินยาต้านเชื้อก็จะกลับมีปริมาณเพิ่มขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์ ทำให้ต้องกินยาต่อเนื่องตรงเวลาไปเรื่อยๆ และตรวจเลือดอย่างน้อยปีละครั้ง ส่งผลให้อยู่ใน “ภาวะไม่แพร่กระจายเชื้อเอชไอวีทางเพศสัมพันธ์” หรือ Untransmittable จึงเรียกว่า ไม่เจอเท่ากับไม่แพร่ หรือ Undetectable= Untransmittable (U=U)
ประเด็นสำคัญ...หากการติดเชื้อและกินยาจนตรวจไม่เจอเชื้อในเลือดแล้ว คนนั้นไม่เป็นอันตราย แม้มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอน โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย เรียกว่า ไม่เจอเท่ากับไม่แพร่ (U=U) ในสังคมควรลดการตีตราและรังเกียจผู้ติดเชื้อ เพื่อให้คนอาจมีเชื้ออยู่แล้วกล้าไปตรวจเลือด
ทำให้คนตรวจเจอจะได้กล้าไปรักษาและรักษาให้ดีจะได้ไม่ส่งต่อเชื้อให้ใครต่ออีก ส่งผลให้ “โรคเอดส์” ก็จะยุติได้ในประเทศไทยและทั่วโลก
ตามที่รัฐบาลไทย...มีการกำหนดเป้าหมายไว้ในอีก 10 ปีข้างหน้า จะสามารถยุติเชื้อเอชไอวีได้ เพราะมียาที่มีประสิทธิภาพดีในการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อที่ต้องค้นหาผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบรักษาให้ได้รวดเร็ว
ย้ำเตือนกัน...“เชื้อเอชไอวี” ไม่แพร่เชื้อให้ใครได้ หากรับยาต้าน... จนสุขภาพแข็งแรง มีอายุขัยเท่าคนปกติ...“สังคม” ต้องคิดใหม่ โรคนี้ไม่เป็นโรคอันตราย เลิกตีตราและเลิกรังเกียจผู้ติดเชื้อเสียที...