มีเด็กถูกรังแกในสถานศึกษาปีละ 600,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นักเรียนที่อยู่ในวงจรการรังแกอยู่ในระบบการศึกษากว่า 40% ซึ่งไทยเป็นอันดับ 4 ของโลก

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผอ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า กองทุนฯร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และมูลนิธิรักษ์ไทย จัดทำโครงการก้าวทันการยุติการรังแกในโรงเรียนและโซเชียลมีเดีย เพื่อให้นักเรียนลดการรังแกในโรงเรียนและในโลกไซเบอร์ รวมทั้งครูในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ผู้ปกครอง และภาคีเครือข่าย ตระหนักรู้และเข้าใจว่า การล้อ แกล้ง รังแก เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ โดยใช้ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติให้สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา โดยโครงการจะพัฒนาเครื่องมือที่สามารถติดตามสถานการณ์ได้ ซึ่งจากการสำรวจพบข้อมูลที่น่ากังวล คือ มีเด็กถูกรังแกในสถานศึกษาปีละ 600,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นักเรียนที่อยู่ในวงจรการรังแกอยู่ในระบบการศึกษากว่า 40% ซึ่งไทยเป็นอันดับ 4 ของโลก ทั้งนี้การรังแกทางโลกออนไลน์ หรือ Cyber Bullying เกิดจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมจริง และต่อเนื่องไปยังสังคมออนไลน์ หรือเกิดจากการสร้างทัศนคติ พฤติกรรมรุนแรง เกลียดชังในชีวิตจริง และนำไปใช้ในโซเชียลมีเดีย การล้อ แกล้ง รังแกในโรงเรียน เช่น การล้อเลียนลักษณะพฤติกรรม รูปร่างหน้าตา สีผิว ส่งผลกระทบต่อจิตใจและการเรียนของเด็กเป็นอย่างมาก

นายวสันต์กล่าวต่อไปว่า ทั้ง 3 หน่วยงานจะร่วมกันจัด Wokshop ระบบ E-Training สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา และระบบ E-Training สำหรับนักเรียน ที่สามารถนำไปใช้กับโรงเรียนสังกัดสพฐ.ทั่วประเทศ พัฒนานักเรียน 35,000 คน จาก 50 โรงเรียนนำร่องใน 5 ภูมิภาค มีความเข้าใจเรื่องการรังแกและสาเหตุที่มาจากปัจจัยต่างๆ ร่วมจัดทำกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหาการล้อ แกล้ง รังแกในโรงเรียนและโลกออนไลน์ พัฒนาครู 2,890 คน จาก 50 โรงเรียนนำร่องใน 5 ภูมิภาค ให้เข้าใจ และตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหาการล้อ แกล้ง รังแก ในโรงเรียนและโลกออนไลน์ สามารถจัดการแก้ไขปัญหา รวมถึงพัฒนาเครือข่าย “สื่อดี ยุติการรังแก” ที่มีเด็ก เยาวชน ผู้ปกครอง และผู้มีอิทธิพลทางสื่อ ร่วมรณรงค์สร้างความเข้าใจ เสนอแนวทางแก้ไขหรือป้องกันปัญหาการล้อ แกล้งรังแกกัน และชิ้นงานสื่อสร้างสรรค์ 50 ชิ้นงาน โดยมีระยะเวลาดำเนินการโครงการถึงวันที่ 8 ธ.ค.2563.

...