เว็บไซต์ MHORDUER.COM ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ “หมอดื้อ” คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สะท้อนข้อมูล รายงานละเอียด “ผู้ป่วย” โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่อู่ฮั่น ประเทศจีน

ตีพิมพ์ในวารสารแลนเซท วันที่ 24 มกราคม 2020 พบว่า อัตราเสียชีวิตในผู้ป่วยมีอาการที่ต้องเข้าโรงพยาบาล อยู่ที่ 15%

ผู้ป่วยจำนวน 41 รายที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อไวรัสตัวนี้ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2019 จนกระทั่งถึงวันที่ 2 มกราคม 2020 ที่เข้ารับรักษาตัวในโรงพยาบาลและในหอผู้ป่วยอาการหนัก ไอซียู

ในรายงานนี้เป็นการบรรยายลักษณะของผู้ป่วยเพศ โรคประจำตัว การเปลี่ยนแปลงทางห้องปฏิบัติการ การดำเนินโรครวมถึงการเปรียบเทียบระดับสารอักเสบที่เกิดขึ้นในร่างกายระหว่างผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคนี้ ทั้งที่...ต้องเข้า “ไอซียู” และที่อยู่ใน “หอผู้ป่วยปกติ” ที่กักกันบริเวณการแพร่เชื้อ

ผู้ป่วยทั้ง 41 ราย 30 รายเป็นผู้ชาย มี 20 คนที่มีอายุอยู่ระหว่าง 25 ถึง 49 ปี 14 คนอายุระหว่าง 50 ถึง 64 ปี...ค่าอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 49 ปี

ผู้ป่วย 13 ใน 41 ราย เข้าห้องผู้ป่วยอาการหนักเนื่องจากภาวะระดับออกซิเจนต่ำ

ผู้ป่วย 13 รายเท่านั้นที่มีโรคประจำตัว โดย 8 รายมีเบาหวาน 6 รายมีความดันสูง และ 6 รายมีโรคหัวใจ...ผู้ป่วย 27 รายไปที่ตลาดอาหารทะเล ที่มีการจำหน่ายสัตว์อื่นๆด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ต้องเข้าไอซียูหรืออยู่หอผู้ป่วยปกติ มีประวัติ ไปที่ตลาดใกล้เคียงกัน

...

“ผู้ป่วยรายแรก” ที่เสียชีวิตมีประวัติไปตลาดแห่งนี้เป็นประจำและถูกบรรจุตัวเข้าโรงพยาบาลโดยมีไข้ ไอ และหอบเหนื่อยอยู่ 7 วัน ทั้งนี้ โดยที่ 5 วันหลังจากมีอาการ แพร่ไปภรรยา อายุ 53 ปี ที่ไม่มี ประวัติ ไปตลาดมาก่อน และมีอาการปอดบวม จนต้องเข้าโรงพยาบาลด้วย

ประเด็นไฮไลต์ที่น่าสนใจก็คือลักษณะ “อาการ” ที่พบบ่อยที่สุดในตอนเริ่มต้นนั้นได้แก่...ไข้ 40 ใน 41 ราย...ไอ 31 ราย และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหรืออ่อนเพลีย 18 ราย

อาการที่พบได้รองลงมาได้แก่ ไอมีเสมหะ 11 ใน 39 ราย...ปวดศีรษะ 3 ใน 38 ราย ไอเป็นเลือด 2 ใน 39 ราย และท้องเสีย 1 ใน 38 ราย...มากกว่าครึ่งคือ 22 ใน 40 ราย มีอาการหายใจเหนื่อย

ระยะเวลาเฉลี่ยจากเมื่อเริ่มมีอาการจนกระทั่งถึงมีหายใจเหนื่อยอยู่ที่ 8 วัน และจากอาการแรกจนกระทั่งเข้าโรงพยาบาลอยู่ที่ 7 วัน และจนกระทั่งถึงหายใจลำบากอยู่ที่ 8 วัน และพัฒนาจนกระทั่งถึงภาวะปอดล้มเหลวอย่างรุนแรงอยู่ที่ 9 วัน

จากที่มีอาการแรกจนกระทั่งถึงจุดที่ต้องเข้าไอซียู ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่ที่ 10.5 วัน ปริมาณจำนวนของเม็ดเลือดขาวในเลือดของผู้ป่วยขณะที่รับเข้าโรงพยาบาล พบว่ามีจำนวนต่ำลงกว่าปกติ 25% ของผู้ป่วย 40 ราย

เม็ดเลือดขาว ลิมโฟไซท์ น้อยลงมากใน 63%

พบตับอักเสบ 8 ใน 13 รายของผู้ป่วยที่เข้าไอซียูและ 7 ใน 28 ราย ที่ไม่ได้อยู่ในไอซียู ทั้งนี้ 5 รายพบว่ามีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบร่วมด้วย

นอกจากนั้นผู้ป่วยที่มีอาการหนักจะมีลักษณะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติจากระดับของ D Dimer ที่สูงกว่าธรรมดา...ผู้ป่วย 4 รายในไอซียูมีติดเชื้อซ้ำซ้อนจากเชื้อแบคทีเรีย

ผู้ป่วยทั้งหมดมีความผิดปกติของเนื้อปอดเมื่อทำการตรวจด้วยคอมพิวเตอร์เอกซเรย์ ทั้งนี้ โดยที่เกือบทั้งหมดมีความผิดปกติของปอดทั้งสองข้างโดยเป็นลักษณะความผิดปกติของกลีบปอดหลายตำแหน่ง หรือบางส่วน มีลักษณะของของเหลว เสมหะขังอยู่ในถุงลม

ในกลุ่มที่อาการไม่หนักมาก จะเป็นที่เรียกว่า ground glass opacity โดยถุงลมถูกแทนที่ด้วยน้ำหรือของเหลวเป็นบางส่วน

การวิเคราะห์ภาวะอักเสบในร่างกาย จากการหาระดับ IL1B, IL1RA, IL7, IL8, IL9, IL10, basic FGF, GCSF, GMCSF, IFNγ, IP10, MCP1, MIP1A, MIP1B, PDGF, TNFα และ VEGF พบว่ามีระดับสูงกว่าคนปกติ โดยที่ระดับของ IL5, IL12p70, IL15, Eotaxin และ RANTES ใกล้เคียงกับคนปกติ

ระดับ IL2, IL7, IL10, GCSF, IP10, MCP1, MIP1A และ TNFα จะสูงในคนที่มีอาการหนักและต้องเข้าไอซียู

สำหรับ “ภาวะแทรกซ้อน” ที่พบบ่อยในผู้ป่วยปอดอักเสบคือการพัฒนายกระดับความรุนแรงจนกระทั่งถึงขั้น ARDS ที่การหายใจเป็นไปด้วยความยากลำบากจากการที่มีของเหลวไหลรั่วเข้าไปในถุงลมจนทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำจากการที่เนื้อเยื่อปอดไม่ขยายตัว และหายใจไม่เข้า

ในระดับความรุนแรงเช่นนี้จะมีไวรัสในเลือด จากการตรวจรหัสพันธุกรรม N ยีน (การตรวจวินิจฉัยโรคจากเสมหะจะดูที่ envelope gene) โดยพบได้ 15% (6 ราย) กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ 12% (5 ราย) และมีติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน 10% (4 ราย)

ภาวะหายใจไม่ได้รุนแรงมากใน 4 รายอยู่ที่ 2 รายนั้นจำเป็นจะต้องได้รับเครื่องช่วยพยุงระดับออกซิเจน (ECMO)...การพยายามให้ “ยาต้านไวรัส” และการให้ “สเตียรอยด์” ได้ผลไม่ชัดเจนนัก

ในวันที่ 22 มกราคม 2020 ผู้ป่วย 28 ใน 48 คนกลับบ้านได้และ 6 คน (15%) เสียชีวิต ผู้ป่วยที่กลับบ้านนั้นคือการที่ไม่มี

ใครติดต่อกัน 10 วัน...ภาพเอกซเรย์ของปอดดีขึ้นและไม่พบไวรัสในสิ่งคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจ

แม้ว่าประเทศไทยจะมี “ผู้ติดเชื้อ” แต่มีการเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ในฐานะหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ย้ำว่า สถานการณ์ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาเราต้องยอมรับว่าการระบาดของไวรัสโคโรนา จากเมืองอู่ฮั่น ไม่สามารถคัดกรองได้ 100%

ในเมืองไทยมีโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อระหว่าง “คนไทยสู่คนไทย” อย่างแน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าจะ “ช้า” หรือ “เร็ว” เท่านั้น เนื่องจากไม่มีทางที่จะคัดกรอง “ผู้ติดเชื้อ” เข้า...ออกประเทศได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์

และ...คาดว่าน่าจะมีผู้ติดเชื้ออยู่ในประเทศอื่นๆที่ยังไม่เป็นข่าว อีกหลายราย

“การคัดกรอง” ในประเทศไทยถือว่า...ทำเต็มขั้นและดีที่สุดแล้ว แต่ด้วยอาการของโรค หากติดเชื้อจะใช้เวลา 2-3 วัน กว่าจะเริ่มมีอาการป่วยเป็นไข้ อาจจะมีผู้ติดเชื้อหลุดรอดเข้ามาได้

เนื่องจากโรคนี้แพร่ระบาดค่อนข้างง่าย เพราะติดต่อผ่านการหายใจ และการสัมผัสผ่านสารคัดหลั่ง ไม่ว่า...จะเป็นฝอยละอองต่างๆ ที่มาจากร่างกายของผู้ติดเชื้อ

วิธีการ “ป้องกัน” สำหรับคนทั่วไปทุกคนคือ...กินอาหารสุกเท่านั้น ไม่กินอาหารดิบ และ... “กินร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือบ่อย” จะสามารถป้องกันการระบาดของโรคได้ในระดับหนึ่ง รวมไปถึงการใส่หน้ากากอนามัยในที่ที่มีผู้คนพลุกพล่าน...เน้นย้ำว่า “ตื่นตัวแต่อย่าตื่นตูม”.