เตือนเกษตรกร ประชาชน รับมือสถานการณ์ "ภัยแล้ง" พบหลายจังหวัดส่อวิกฤติ หลังปริมาณน้ำในแม่น้ำ และในเขื่อน เริ่มลดลง บางพื้นที่พบแห้งขอด ชาวนาบางส่วนปล่อยข้าวยืนต้นตาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดระยองปีนี้มีแนวโน้มที่รุนแรง และแผ่วงกว้างกระทบทุกภาคส่วนในพื้นที่จังหวัดระยอง ไม่เพียงแต่ภาคเกษตรกรรม และน้ำใช้ในครัวเรือนเท่านั้นล่าสุด นายสุรพล สุทธจินดา ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ได้ออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดระยอง ได้เร่งหามาตรการรับมือเป็นการเร่งด่วนแล้ว

ทั้งนี้ เพราะสถานการณ์ปริมาณน้ำตามอ่างเก็บน้ำสำคัญในจังหวัดระยอง ไม่ว่าจะเป็นอ่างดอกกราย อ่างหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ รวมไปจนถึงอ่างเก็บน้ำประแสร์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนที่นำมาใช้ในจังหวัดระยองและพื้นที่ใกล้เคียง อยู่ในสภาวะวิกฤติต่ำกว่าปี 2548 ที่เกิดวิกฤติการขาดแคลนน้ำรุนแรงในจังหวัดระยอง จนส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนในจังหวัดระยอง

จากข้อมูลสถานการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญของจังหวัดระยองในปีนี้ ที่โครงการชลประทานจังหวัดระยอง ได้รายงานมานั้น คาดว่าจะมีน้ำใช้ได้ไม่เกิน 70 หรือ 80 วันเท่านั้น ทำให้ทุกฝ่ายเริ่มมีความกังวลกันเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือรับผิดชอบควรเร่งมือหามาตรการมารองรับทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว เพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาวิกฤติขาดแคลนน้ำที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในปีนี้

...

นอกจากนี้ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ยังเรียกร้องให้ชลประทานจังหวัดระยอง ได้เปิดเผยข้อมูลน้ำที่แท้จริง เพราะที่ผ่านมาเหมือนยังมีปกปิดข้อมูลหรือรายงานไม่ตรงกับความเป็นจริง และในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในจังหวัดระยอง เริ่มมีการวางมาตรการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกันแล้ว

สำหรับข้อมูลการใช้น้ำในจังหวัดระยองจากอ่างเก็บน้ำสำคัญนั้น มีการผันน้ำจากอ่างมาใช้วันละประมาณ 1 ล้าน 1 แสนลูกบาศก์เมตร ถึง 1 ล้าน 2 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน ขณะที่ปัจจุบันไม่มีน้ำไหลลงสู่อ่างสำคัญเลย จึงทำให้น่าห่วงกังวลเป็นอย่างยิ่ง ว่าวิกฤติภัยแล้งปีนี้จะมีแนวโน้มรุนแรง และสาหัสจริง ๆ

นาข้าวที่กาฬสินธุ์กำลังจะยืนต้นตาย 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ความแห้งแล้งในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เริ่มแผ่ขยายเป็นบริเวณกว้าง หลังจากเกิดฝนทิ้งช่วงอีกระลอกสภาพอากาศที่ร้อนจัดตลอดทั้งวัน ทำให้สภาพความแห้งแล้งยังคงส่งผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะต้นข้าวนาปรังของชาวบ้านในพื้นที่ ต.ดอนจาน อ.ดอนจาน จ.กาฬสินธุ์ ต้นข้าวของชาวบ้านที่ปลูกไว้ได้ขาดน้ำเป็นเวลานานและกำลังยืนต้นตาย แล้วและมีแนวโน้มแผ่ขยายเป็นวงกว้าง

ชาวบ้าน บอกว่า ในช่วงก่อนหน้านี้ได้ทำการเร่งปลูกข้าวนาปรังเนื่องจากมีฝนตกลงมา แต่ฝนกลับเกิดทิ้งช่วงเป็นเวลานานอีกทั้งยังมีสภาพอากาศที่ร้อนจัดตลอดทั้งวันส่งผลให้ต้นข้าวนาปรังเริ่มยืนต้นตายและแห้งตายแล้ว โดยชาวบ้านไม่มีแหล่งน้ำสำรองเนื่องจากได้สูบมาในช่วงการไถหว่านแล้วจึงทำได้เพียงรอฝนมาช่วยบรรเทาความเดือดร้อน อยากให้หาแนวทางช่วยเหลือโดยเร็ว โดยเฉพาะน้ำที่จะช่วยให้ต้นข้าวรอดตายไปใน ช่วงวิกฤติแล้งนี้

ลุ่มน้ำยม อ.บางระกำ พิษณุโลก น้ำแห้งแล้ว

ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำยมเขต อ.บางระกำ ทั้งแม่น้ำยมสายหลักและแม่น้ำยมสายเก่าที่ไหลผ่านคลองเมม ต.ท่าช้าง อ.พรหมพิราม ผ่านคลองแม่ระหัน คลองบางแก้ว และคลองวังแร่ รวมถึงแหล่งน้ำต่างๆ ในพื้นที่อยู่ในสภาพแห้งขอดลงทุกขณะ จะเหลือน้ำขังเป็นแอ่งๆ แต่ก็ถูกชาวนาใช้เครื่องสูบน้ำดึงน้ำขึ้นไปทำนาข้าวตลอดสาย มีชาวบ้านบางรายนำเครื่องมือมาจับปลาในน้ำที่เหลืออยู่เป็นแอ่งๆ ที่คาดว่าแห้งขอดไม่เหลือน้ำติดก้นคลองเลยในเร็ววันนี้ นับว่าเป็นสภาพภัยแล้งรุนแรงที่ใกล้เคียงปี 2558

สำหรับพื้นที่โดยรวมของ อ.บางระกำในหลายๆ ตำบล เช่น ต.ท่านางงาม ต.บางระกำ ต.วังอิทก ต.ชุมแสงสงคราม นาข้าวอายุ 1-2 เดือน ยังดูเขียวขจี ด้วยฝีมือของเกษตรกรที่ไม่ยอมให้พื้นที่รกร้างว่างเปล่า แม้ว่ากรมชลประทานจะออกประกาศแจ้งเตือนว่างดส่งน้ำเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร เนื่องจากน้ำในเขื่อนไม่เพียงพอ โดยชาวนาส่วนใหญ่มีบ่อน้ำบาดาลของตัวเอง สามารถดึงน้ำขึ้นมาหล่อเลี้ยงนาข้าวให้รอดพ้นช่วงวิกฤตินี้ไปให้ได้

นายดำรง ทองรอด อายุ 70 ปี ชาวนาบ้านห้วยชัน หมู่ 5 ต.ท่านางงาม เปิดเผยว่า ตนทำนา 20 ไร่ เดิมใช้น้ำจากคลองบางแก้วหรือแม่น้ำยมสายเก่าเป็นหลัก สูบน้ำขึ้นมาหลายทอดกว่าจะถึงที่นาของตนเอง แต่ปัจจุบัน น้ำในคลองบางแก้วแทบไม่มีเหลือแล้ว เพราะทุกคนต่างระดมสูบน้ำกัน

ทั้งนี้ ตนต้องหันมาใช้น้ำจากบ่อบาดาล ที่ลงทุนเจาะบ่อไว้แล้วในงบประมาณ 20,000 บาท ปกติหลายปีที่ผ่านมาชลประทานจะส่งน้ำจากแม่น้ำน่านมาช่วยในพื้นที่ อ.บางระกำ แต่ปีนี้มีการประกาศงดส่งน้ำ เพราะน้ำในเขื่อนเหลือน้อย ตนยึดอาชีพทำนามานาน และยังมีหนี้สินกับ ธกส.อยู่ ถ้าไม่ทำนารอบนี้ ก็จะไม่มีเงินส่งดอกเบี้ยทยอยคืนต้นให้กับธนาคาร จะให้ไปทำอาชีพอื่น ก็ทำไม่ไหวและไม่ชำนาญ

นายสมศักดิ์ บ่องเขาย้อย กำนันตำบลท่านางงาม เปิดเผยว่า นาปรังรอบนี้ ชาวบ้านในเขต ต.ท่านางงาม ปลูกข้าวเต็มพื้นที่ 25,000 ไร่ของตำบล แม้ว่าจะมีการประกาศแจ้งเตือนว่าปีนี้มีน้ำไม่เพียงพอ แต่ช่วงแรกๆ หลังจากหมดหน้าฝนใหม่ๆ น้ำในคลองบางแก้วค่อนข้างมาก เป็นเพราะมีการเตรียมกักเก็บน้ำไว้ เกษตรกรเมื่อเห็นน้ำในคลองมาก ก็คิดว่าจะเพียงพอจึงทำนากันมาก ปัจจุบันน้ำในคลองบางแก้วแทบไม่มีเหลือแล้ว แต่ชาวนาส่วนใหญ่ ก็จะมีบ่อบาดาลในพื้นที่ของตัวเอง บางคนที่ทำนาไปแล้วแต่ไม่มีบ่อบาดาล ก็ต้องลงทุนเจาะบ่อบาดาลเพิ่ม เพื่อให้ข้าวรุ่นนี้รอดไปได้


แม่น้ำเมยแห้งขอดเดือดร้อน ทั้งประชาชนฝั่งไทยและพม่า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ภัยแล้งเริ่มคุกคามพื้นที่หลายอำเภอ ซีกตะวันตกของ จ.ตาก ประกอบด้วย อ.แม่สอด อ.พบพระ อ.อุ้มผาง อ.แม่ระมาด และ อ.ท่าสองยาง แม่น้ำเมย เป็นแม่น้ำแบ่งพรมแดนระหว่างไทย-เมียนมา ประชาชนทั้งสองฝั่งเริ่มประสบปัญหาเพราะแม่น้ำเมยแห้งขอด การนำน้ำไปผลิตประปาเริ่มมีปัญหาแหล่งน้ำดิบ หลายหน่วยงานเร่งระดมขนส่งน้ำเพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ขาดแคลน

ขณะที่นายสนิท ทองมา ผอ.แขวงทางหลวงตากที่ 2 สั่งการให้รถน้ำจากหมวดการทางอุ้มผาง หมวดการทางแม่ระมาด และหมวดการทางท่าสองยาง นำรถบรรทุกน้ำไปแจกจ่ายประชาชนในถิ่นทุรกันดาร ที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคอย่างทั่วถึงทุกวันเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และยังสั่งเจ้าหน้าที่นำรถน้ำออกฉีดพ่นละอองน้ำ เพื่อคลี่คลายปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ อ.แม่สอดอีกด้วย