เนื่องในโอกาสวันครูแห่งชาติ ประจำปี 2563 ตรงกับวันที่ 16 มกราคมของทุกปี ที่มีความหมายสำคัญต่อลูกศิษย์...ในการแสดงความกตัญญูกตเวทีแก่ครูบาอาจารย์ ได้อบรมสั่งสอนแนะนำ ถ่ายทอดความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญาพัฒนาให้เป็นคนดี นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของอาชีพ และพัฒนาประเทศ
นับว่าภาระหน้าที่ของ “ครู”...มีความสำคัญต่างต้องทุ่มเทแรงกาย และแรงใจ โดยเฉพาะครูในโรงเรียน...พื้นที่ถิ่นทุรกันดาร ที่มีครูจำนวนไม่น้อย...ยอมเสียสละ ทิ้งชีวิตความสุขสบาย มุ่งมั่นพัฒนาเด็กและเยาวชน ให้มีความเท่าเทียมด้านการศึกษา นำพาพัฒนาคุณภาพชีวิตและครอบครัวให้ดีขึ้น...
ในวันครูแห่งชาตินี้ ทีมสกู๊ปหน้า 1 ขอเก็บเรื่องราว “อาชีพครู” ผู้เปรียบเสมือน “เรือจ้าง” ที่ต้องการส่งเสริมให้ศิษย์ถึงฝั่งชัยอย่างต้องการ ที่ไม่เคยหวังผลตอบแทนนี้จาก พัชรินทร์ พรหมศรี ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 33 (บ้านทุ่งพร้าว) อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน นำพาตัวเองไปอยู่กับความขาดแคลนในถิ่นทุรกันดาร ไร้สิ่งอำนวยความสะดวก
ขอย้อนอดีต...สมัยเรียนอยู่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 33 ตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 เพราะครอบครัวมีฐานะยากจน ทำให้ต้องมาเรียนในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ที่ส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กผู้ด้อยโอกาสพื้นที่ถิ่นทุรกันดารได้เรียนจนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นกันอย่างทั่วถึง โดยที่ไม่เก็บค่าใช้จ่ายใดๆ
ในช่วงวัยเรียนนั้น...ก็มีพฤติกรรมเกเรอยู่บ้าง ทั้งไม่ตั้งใจเรียน ไม่ฟังครู ในบางครั้งก็โดดเรียน แต่คุณครูต่างคอยดูแลเอาใจใส่กับนักเรียนทุกคนให้คำแนะนำสั่งสอน ที่เน้นให้นักเรียนเป็นคนดี สามารถอ่านออก เขียนได้ตามหลักสูตรพื้นฐานสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดไว้
...
แต่โรงเรียนแห่งนี้มีหลักสูตรเพิ่มเติม คือ...“สื่อมวลชนศึกษา” ในการทำหนังสือพิมพ์ ทั้งฝึกคิด เขียน มีหลักการเขียน “5W 1H” เป็นการฝึกคิดอย่างสร้างสรรค์ ฝึกสมอง ได้เรียนรู้กับการทำข่าว
อีกทั้งยังเน้นในเรื่องความเป็นพลเมือง สร้างจิตสำนึกให้ทุกคนร่วมแรงร่วมใจกัน ทำให้เมืองไทยเป็นเมืองที่น่าอยู่ พลเมืองเคารพกฎกติกา เคารพสิทธิผู้อื่น เคารพความแตกต่าง ความเสมอภาค มีคุณธรรมจริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสามารถพึ่งตนเองได้ เพื่อจะได้เป็นกำลังพลเมืองที่ดี
มีจุดประสงค์...เพื่อให้นักเรียนสามารถปรับตัว ดำรงชีวิตในสังคมอย่างมีความสุข เป็นคนดี คนเก่ง...ทำให้ตัวเองนี้มีความมุ่งมั่น นำมาสู่ความฝัน “อาชีพครู” ในตำแหน่งครูสอนวิชาคอมพิวเตอร์ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 33 แห่งนี้จนถึงปัจจุบัน...
สาเหตุหนีความเจริญ...มุ่งมั่นที่จะมาสอนหนังสือในพื้นที่ถิ่นทุรกันดาร...คือ 1.ต้องการกลับมาดูแลพ่อแม่ และ 2.ต้องการสอนหนังสือให้เด็กในชุมชนบ้านเกิดของตัวเอง ที่มีปัญหาในพื้นที่มากมาย
โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสาร เพราะนักเรียนส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชนเผ่ากะเหรี่ยง
ทำให้เกิดอุปสรรคทางภาษาระหว่างครูกับนักเรียน ก่อให้เกิดปัญหาต่อการเรียนการสอน จนครูขาดความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็กไม่สามารถบริหารชั้นเรียนให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี และจัดกิจกรรมให้เรียนรู้พัฒนาตามต้องการไม่ได้ ด้วยตัวเองเป็นคนพื้นที่สื่อสารภาษากะเหรี่ยงได้ดีอยู่แล้ว จึงอยากกลับมาสอนในโรงเรียนแห่งนี้...
เมื่อมาเป็นครู...ย่อมมีหน้าที่ในการฝึกฝน สั่งสอน สร้างเสริมความรู้ ทักษะ นิสัยให้กับนักเรียน มีเป้าหมายในการพัฒนาเด็ก เยาวชน ก้าวไปพัฒนาประเทศในอนาคต ทำให้มีการเตรียมการสอนล่วงหน้าเป็นอย่างดี มีกิจกรรมประกอบให้เกิดความสนใจแก่ผู้เรียน มีความสนุกสนาน ได้ลงมือปฏิบัติจริงในห้องเรียนด้วย
อีกทั้งยังต้องจัดทำเอกสารประกอบการเรียน มีการปรับปรุงเนื้อหาวิชาให้ทันสถานการณ์อยู่ตลอด และต้องวัดผล ประเมินผลออกข้อสอบ ทั้งยังมีงานด้านเอกสาร ทำให้เวลาที่ทุ่มกับการดูแลเด็ก ถูกนำไปใช้กับสิ่งอื่น
ซึ่งในโรงเรียนก็แบ่งหน้าที่กันปฏิบัติของแต่ละฝ่าย ที่ใช้ความร่วมมือ ...ร่วมใจ...ช่วยกันคนละไม้...คนละมือ...ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายนั้น หาก “ครู” สามารถลดงานเอกสารที่อยู่นอกเหนือจากการสอนได้ก็ดี เพราะ อยากให้ครูอยู่ในห้องเรียน ดูแลเรื่องการเรียนการสอนเป็นหลักจะดีกว่า...
“ใน 1 ปี ดูแลนักเรียนทั้งห้องปีละ 30-35 คน ทุกวันจะจัดเตรียมการเรียนการสอนให้นักเรียนได้รับความรู้ เนื้อหา ในรายวิชาครบถ้วน และยังมีภารกิจงานนอกจากในห้องเรียนอื่นอีก แต่ดิฉันตัดสินใจเข้ามารับราชการครู หากเป็นภารกิจหน้าที่ตามระเบียบ ก็พร้อมปฏิบัติอย่างเต็มความสามารถ” พัชรินทร์ว่า
แม้ว่าจะเป็นครูในโรงเรียนชนบทห่างไกลก็มีความภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสมอบความรู้ ความหวังดี ให้กับนักเรียน ส่วนใครจะรับได้มากน้อยเพียงใดต้องขึ้นกับตัวบุคคล เพราะต้องยอมรับว่าพื้นที่นี้มีปัญหาเด็กไร้สัญชาติ ผู้ปกครองยากจน ทำให้เด็กขาดโอกาสทางการศึกษา
แต่กระทรวงศึกษาธิการก็มีระบบปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจน ในงบประมาณประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป ค่าใช้จ่ายจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ค่าจัดการเรียนการสอนที่จัดสรรให้แก่สถานศึกษาที่มีนักเรียนยากจน เพื่อจัดหาปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และเพิ่มโอกาสทางการศึกษา...
ในการช่วยเหลือนักเรียนที่ยากจนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนจบการศึกษาภาคบังคับ ให้มีโอกาสรับการศึกษาในระดับสูงขึ้น แต่สิ่งที่ขาด คือ การส่งเสริมอาชีพ เพราะนักเรียนจบการศึกษา มักไม่มีงานทำกัน
ในฐานะผู้ที่ได้ชื่อว่า “แม่พิมพ์ของชาติ” มีจิตวิญญาณของความเป็นครู ที่ทุ่มเทในการดูแลลูกศิษย์ด้วยความรัก...ความเมตตา ได้มอบความรู้ ที่เป็นยิ่งกว่า “แม่ของนักเรียน” เพราะต้องทำทุกอย่างแทนแม่ตัวจริง ตั้งแต่อาบน้ำ จัดหาซื้อเสื้อผ้าชุดนักเรียน รวมถึงหาสมุดหนังสือ เครื่องเขียน ที่ดูแลนักเรียนแทบทุกเรื่องก็ว่าได้...
เพราะโรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนพักนอนให้กับนักเรียนที่อยู่บนดอยสูงห่างไกลและเด็กขาดโอกาสทางการศึกษาที่เข้ามาเรียน และได้พักนอนอาศัยอยู่ประจำในโรงเรียนตลอดปีการศึกษา เนื่องจากไม่สะดวกในการเดินทางไปกลับ ในตอนกลางคืนก็ต้องจัดเวรครูมานอนเฝ้าดูแลตลอด
หากเด็กนักเรียนคนใดเรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง หรือเรียนไม่ทันเพื่อน ก็จัดสอนพิเศษเพิ่มเติมให้อีก เพราะความรักที่มีต่อลูกศิษย์ หวังให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี มีคุณธรรม...
อีกทั้งในทุกภาคเรียนต้องออกเยี่ยมบ้านนักเรียนตามหมู่บ้านต่างๆ ที่อยู่บนดอยห่างไกล แม้ว่าการเดินทางลำบากก็ไปเพราะครูจะได้พบปะกับผู้ปกครอง สามารถดูแลช่วยเหลือนักเรียนได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งมีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวนักเรียน ทั้งเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ ครอบครัว ฐานะ ทางการเงิน
ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวและเรื่องอื่นๆ ที่สามารถนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในการช่วยเหลือ แก้ไข หรือส่งเสริมนักเรียนทั้งในด้านการศึกษาและด้านอื่นๆได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น
“ปัจจุบันนี้อาชีพครูมีความท้าทายมาก เพราะมีการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ ไม่ใช่แค่สอนหนังสือในห้องเรียนอย่างเช่นอดีต แต่พัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ทั้งในเรื่องเทคโนโลยี ที่เป็นแบบอย่างให้เด็กพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเช่นกัน”
ขอย้ำว่า...“อาชีพครู” แม้เป็นอาชีพที่เหนื่อย แต่ “ภูมิใจ”... เพราะอยากเห็นเด็กได้ดี มีอนาคตที่ดี จนเกิดความผูกพันกันบางครั้งลูกศิษย์เรียนจบไปแล้ว ก็มีแวะเวียนมาเยี่ยมเยือนในวันสำคัญ เช่น วันเกิดของครู มักซื้อเค้กมาอวยพร หรือวันครูก็กลับมาไหว้ครูอยู่เสมอ
ในวันครู 2563 นี้...แสดงความยินดี...กับครูที่ได้รับรางวัลครูดีเด่น และขอให้ครูทั่วประเทศ มีพลังกำลังใจในการทำหน้าที่ดูแลพาลูกศิษย์สู่ฝั่งชัยอย่างภาคภูมิใจ
ขอยกย่องอาชีพครู ผู้เป็นพ่อแม่คนที่สอง คอยทำหน้าที่สร้างพัฒนาเด็ก เยาวชน ให้เติบโตเป็นคนดี มีอนาคตนี้ตลอดกาล...