วงเสวนา หัวข้อ "BULLYING" ในเด็ก เผยข้อมูลน่าห่วง "ไทย" ติดอันดับ 2 โลก รองจากญี่ปุ่น ผลสำรวจพบวิธีที่ใช้บูลลี่มากที่สุดคือ การตบหัว ล้อพ่อแม่ พูดจาเหยียดหยาม นินทา ล้อปมด้อย ฯลฯ

วันที่ 9 ม.ค.63 ที่เดอะฮอลล์ บางกอก เครือข่ายปกป้องเด็กและเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม ร่วมกับ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาหัวข้อ “BULLYING กลั่นแกล้ง ความรุนแรงที่รอวันปะทุ” เพื่อหาทางออกและวิธีแก้ไขปัญหาเด็กโดนกลั่นแกล้ง หรือ บูลลี่

นายอธิวัฒน์ เนียมมีศรี เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า เครือข่ายฯ ได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นเรื่อง “บูลลี่ กลั่นแกล้ง ความรุนแรง ในสถานศึกษา” ในกลุ่มเด็กอายุ 10-15 ปี จาก 15 โรงเรียน พบว่า ร้อยละ 91.79 เคยถูกบูลลี่ วิธีที่ใช้บูลลี่มากที่สุดคือ การตบหัว ร้อยละ 62.07 รองลงมา ล้อบุพการี ร้อยละ 43.57 พูดจาเหยียดหยาม ร้อยละ 41.78 และอื่นๆ เช่น นินทา ด่าทอ ชกต่อย ล้อปมด้อย พูดเชิงให้ร้าย เสียดสี กลั่นแกล้งในสื่อออนไลน์

นอกจากนี้ 1 ใน 3 หรือ ร้อยละ 35.33 ระบุว่า เคยถูกกลั่นแกล้งประมาณเทอมละ 2 ครั้ง ที่น่าห่วงคือ 1 ใน 4 หรือ ร้อยละ 24.86 ถูกกลั่นแกล้งมากถึงสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ส่วนคนที่แกล้งคือ เพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้อง

ทั้งนี้ ร้อยละ 68.93 มองว่า การบูลลี่ ถือเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง สำหรับผลกระทบที่เห็นได้ชัด ร้อยละ 42.86 คิดจะโต้ตอบเอาคืน ร้อยละ 26.33 มีความเครียด ร้อยละ 18.2 ไม่มีสมาธิกับการเรียน ร้อยละ 15.73 ไม่อยากไปโรงเรียน ร้อยละ 15.6 เก็บตัว และร้อยละ 13.4 ซึมเศร้า นอกจากนี้ เด็กๆ ยังต้องการให้ทางโรงเรียนมีบทลงโทษที่ชัดเจน มีครูให้คำปรึกษา จัดกิจกรรมสร้างความเข้าใจ

...

นายอธิวัฒน์ กล่าวว่า สังคมไทยต้องเลิกมองเรื่องบูลลี่ กลั่นแกล้งกัน เป็นเรื่องเด็กๆ ปกติแล้วปล่อยผ่าน ต้องให้ความสำคัญ และสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้อง เร่งปลูกฝังเรื่องการเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกาย การให้เกียรติกัน ทั้งในระดับครอบครัวและในสถานศึกษา กระทรวงศึกษาธิการก็ต้องให้ความสำคัญกับปัญหา ควรกำหนดให้สถานศึกษามีช่องทางให้เด็กๆ สามารถบอกเล่าปัญหา เพื่อขอความช่วยเหลืออย่างเป็นมิตร และปิดลับ หากสถานศึกษาไม่สามารถรับมือกับปัญหาจะสุ่มเสี่ยงที่ปัญหาจะใหญ่ขึ้น

ด้าน น.ส.ฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า จากงานวิจัยของกรมสุขภาพจิต พบว่า การใช้ความรุนแรง การข่มเหงรังแกกันหรือการบูลลี่ ในประเทศไทยติดอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหมายความว่า การบูลลี่ในไทยมีระดับความถี่ที่รุนแรง ทั้งยังพบว่าอายุเด็กที่ถูกบูลลี่ จะน้อยลงไปเรื่อยๆ

งานวิจัยยังพบอีกว่า เด็กที่รังแกคนอื่น มีพื้นฐานด้านการขาดอำนาจบางอย่างในวัยเด็ก ถูกการเลี้ยงดูเชิงลบ รวมถึงพันธุกรรมทางสมอง จนนำไปสู่การรังแกกลั่นแกล้งคนอื่นในวัยที่โตขึ้น พฤติกรรมนี้จะเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นความเคยชิน ทำได้แนบเนียนและรุนแรงขึ้น

ส่วนเด็กที่ถูกบูลลี่ จะมีอาการซึมเศร้า ไม่อยากไปโรงเรียน บางรายอาจถึงขั้นคิดสั้น ทั้งนี้ผู้ปกครองอย่าปล่อยให้เด็กเผชิญปัญหาเพียงลำพัง ต้องคอยสังเกตอาการและสอบถาม เมื่อเด็กส่งสัญญาณที่ผิดปกติ เช่น ดูหงุดหงิด วิตกกังวล มีความกลัว ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากคุยกับใคร หรือมีร่องรอยตามร่างกาย ผู้ปกครองควรสร้างบรรยากาศแห่งความไว้ใจ ชวนคุยให้เขาเล่าปัญหาเพื่อช่วยหาทางออก หารือกับครูที่ปรึกษา ข้อสำคัญคือการเป็นแบบอย่างที่ดี ทำให้เด็กนำสิ่งเหล่านี้ไปแก้ปัญหา รวมถึงการเลี้ยงดูเชิงบวก

ขณะที่นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ถ้าสำรวจรากเหง้าความเป็นไทย เรามีทุนหล่อเลี้ยงเมล็ดพันธุ์บูลลี่ให้เติบโตอย่างแข็งแรง อาทิ การใช้คำพูดล้อเลียน หยามเหยียด เสียดสี คนที่มีปมด้อย สร้างปมด้อย สร้างแผลใจให้คน รวมถึงการมองคนที่มีความแตกต่างเป็นเรื่องน่าขำ ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างทางด้านร่างกายหรือภาษา

สมัยก่อนความรุนแรงอาจไม่ถึงขั้นฆ่าตัวตาย เพราะสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ไม่โดดเดี่ยวช่วยเยียวยาเด็ก แต่ปัจจุบันสังคมเปลี่ยนไป คนอยู่โดดเดี่ยวมากขึ้น ทำให้คนเปราะบาง เมื่อถูกบูลลี่จะเกิดการตอบโต้อย่างรุนแรง รวมถึงการทำร้ายตนเองด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นการสื่อสารรูปแบบหนึ่ง ที่พ่อแม่ ครู คนทำงาน ต้องตีความใหม่ และร่วมสร้างเครื่องมือเพื่อเปลี่ยนหนักให้เป็นเบา ช่วยหาทางออกที่ดีต่อทุกฝ่าย