โรคซึมเศร้า หนึ่งในโรคภัยไข้เจ็บที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค แต่ถือเป็นเพชฌฆาตเงียบและมหันตภัยร้ายแรงที่พร้อมจะคุกคามสุขภาพของคนไทย ทั้งสุขภาพทางจิตใจที่ส่งผลถึงสุขภาพทางร่างกายในช่วงปีหนูท้อแท้ 2563
โรคซึมเศร้า...เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ซึ่งยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุที่แน่ชัดได้ว่าเกิดจากอะไร แต่พบว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีความสัมพันธ์กับยีนหรือสารเคมีทางสมองที่ผิดปกติ รวมไปถึงสภาพแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงไปของสังคมโลกยุคใหม่ ที่สังคมรอบตัวมีความเร่งรีบ เคร่งเครียดเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีเวลาให้กับคนในครอบครัวน้อยลงจนกระทบกับสภาพจิตใจ ทั้งยังพบด้วยว่ากรรมพันธุ์ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัย โดยหากมีบุคคลในครอบครัวป่วย หรือมีประวัติเป็นโรคซึมเศร้า คนในครอบครัวนั้นก็จะมีความเสี่ยงป่วยโรคซึมเศร้ามากกว่าครอบครัวที่ไม่มีคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โดยปัจจัยร่วมเหล่านี้หากปล่อยไว้ไม่มีการจัดการเป็นระยะเวลาที่ยาวนานก็จะนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้า และอาจร้ายแรงถึงขั้นการนำไปสู่การฆ่าตัวตาย อย่างไรก็ตาม โรคซึมเศร้านั้นเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ และทุกวัย
...
หากเจาะลึกลงไปถึงข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต จะพบว่าประเทศไทยมีผู้ประสบกับปัญหาด้านสุขภาพจิตไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน และในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 4,000 รายต่อปีจากสาเหตุการฆ่าตัวตาย หรือนั่นหมายถึงมีคนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 1 รายในทุกๆ 2 ชั่วโมง แต่ที่น่าเศร้าคือ มีคนพยายามฆ่าตัวตายปีละ 53,000 ราย หรือมีคนพยายามฆ่าตัวตายทุก 9 นาที 55 วินาที
สำหรับสัญญาณของโรคซึมเศร้า ที่ผู้ป่วย สะท้อนออกมา ประกอบด้วย อารมณ์เปลี่ยนไปอ่อนไหวในเรื่องเล็กน้อย ร้องไห้บ่อย หงุดหงิดง่ายผิดกับที่ผ่านมา ไม่อยากทำกิจกรรมที่เคยชื่นชอบ ไม่มีสมาธิ-ขี้ลืม โดยเฉพาะเรื่องใหม่ๆที่เพิ่งเกิดขึ้น เช่น เพิ่งวางของไว้ก็ลืม ใจลอย ไม่อาจจดจ่อกับสิ่งเดิมๆ เช่น อ่านหนังสือได้ไม่นานก็วาง นอกจากนี้ ยังอาจจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น นอนผิดปกติ อาจนอนมากหรือนอนไม่หลับ อ่อนเพลียไม่มีแรงเหมือนคนไร้พลังจากข้างใน น้ำหนักลด หรือน้ำหนักเพิ่ม จากภาวะกินผิดปกติไปจากเดิม ปฏิบัติตัวกับคนรอบข้างไม่เหมือนเดิม อาจเก็บตัว พูดน้อย ประสิทธิภาพการเรียน หรือการทำงานแย่ลงจนถึงขั้นไม่อยากทำงาน หยุดงาน หรือขาดเรียนบ่อย ซึ่งสัญญาณต่างๆที่ผู้ป่วยซึมเศร้าพยายามส่งถึงคนรอบข้างเหล่านี้ ถือเป็นสิ่งสำคัญมากที่คนรอบข้างต้องใส่ใจ เพราะหากคนรอบข้างใส่ใจจะช่วยยับยั้งการฆ่าตัวตายได้
โดยเฉพาะในโลกยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับการดำเนินชีวิตมากขึ้น ทำให้การดำเนินชีวิตต้องเร่งรีบ เกิดการแข่งขันสูงขึ้นในสังคม จนบางครั้งไม่มีเวลาให้แก่กันและกันสุดท้ายก็ทำให้เกิดการใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวจนกลายเป็นโรคซึมเศร้าในที่สุด
เพราะฉะนั้นทุกคนในสังคมต้องใส่ใจและเปิดใจรับฟังคนใกล้ตัวให้มากขึ้น หากพบคนใกล้ตัวมีอาการที่เข้าข่ายภาวะซึมเศร้า สิ่งสำคัญที่สุดคือ อย่าปล่อยผ่านต้องเข้าไปพูดคุยรับฟัง แต่หากยังเห็นว่าอาการยังไม่ดีขึ้นหรือมีอาการที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น ก็ขอให้ส่งต่อหรือไปปรึกษากับจิตแพทย์ เพื่อประเมินอาการและวางแผนการรักษาต่อไป
แต่ในความโชคร้ายของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ก็ยังคงมีความหวังและทางออกที่ดี แค่เพียงผู้ป่วยกล้าที่จะเปิดใจยอมรับและเข้ารับการรักษา เพราะ “โรคซึมเศร้า” สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการรับประทานยา เพื่อปรับสารเคมีทางสมองที่ผิดปกติให้เกิดความสมดุลหรือปรับสภาพจิตใจร่วมกับสภาพแวดล้อมก็จะสามารถทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคซึมเศร้าได้ แม้ในรายที่อาการรุนแรงก็ยังไม่สิ้นหวัง เพราะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะประเมินการรักษาด้วยระบบไฟฟ้าซึ่งมีความปลอดภัยต่อไป
แม้สังคมเริ่มให้ความสำคัญกับความรู้ด้านสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้น แต่ปัญหาด้านสุขภาพจิตและความสูญเสียที่เกิดขึ้นก็ยังคงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ดังนั้น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพจิตอย่างครบวงจร ทั้งสุขภาพทางร่างกายและจิตใจ เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี “โดยเน้นไปที่สุขภาพจิตคนไทย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เล่าถึงการวางแผนปฏิบัติการพิทักษ์สุขภาพจิตของคนไทย ว่า กระทรวงสาธารณสุขเห็นถึงความสำคัญของปัญหาเรื่องสุขภาพจิต โดยเฉพาะปัญหาโรคซึมเศร้าที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย โดยกรมสุขภาพจิตได้ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่ยังติดปัญหาอยู่บ้าง และจากการที่ตนได้หารือกับทางผู้บริหารกรมสุขภาพจิต ก็ได้มีการวางแผนการแก้ไขปัญหาควบคู่กันไปหลายมิติ โดย 1.เริ่มด้วยการรณรงค์สร้างความเข้าใจ โดยทำให้สังคมได้เข้าใจถึงเรื่องสุขภาพจิตที่มีผลกับทั้งตัวเอง ครอบครัว สังคม และเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น ต้องให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนักร่วมกันให้มากขึ้นว่า การมีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตเป็นปัญหาหนึ่งในหลายๆปัญหาในสังคม 2.ลดการตีตราในสังคม ทำให้ครอบครัวและสังคมเข้าใจว่า ทุกคนในสังคมมีสิทธิที่จะมีปัญหาด้านสุขภาพจิตได้ ดังนั้น การไปพบจิตแพทย์ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องกังวลว่าสังคมคนรอบข้างจะมองว่าเป็นคนบ้า
“กระทรวงจะลดการตีตราในสังคม ต่อไปหากมีปัญหาด้านสุขภาพจิต ผู้ป่วยจะต้องไม่มีความรู้สึกเหมือนสมัยก่อนที่หากไปพบจิตแพทย์แล้วจะถูกมองว่าเป็นคนบ้า เราจะทำให้สังคมมองว่าการป่วยโรคทางจิตอย่างโรคซึมเศร้าก็เหมือนการป่วยโรคเรื้อรังทั่วไป หรือป่วยเป็นไข้หวัด ที่เมื่อป่วยก็ให้ไปพบแพทย์ และรับ ประทานยาตามแพทย์สั่ง ดังนั้น นอกจากการรณรงค์แล้ว กระทรวงสาธารณสุข ก็จะมีการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงของประชาชน โดยขยายการให้คำปรึกษา คือการเพิ่มคู่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ จากเดิมที่มี 10 คู่สาย ก็เพิ่มเป็น 20 คู่สาย เพราะพบว่าที่ผ่านมาสายด่วนให้คำปรึกษายังไม่เพียงพอ เนื่องจากตอบสนองได้เพียง 10% ของ 800,000 สายที่โทร.ขอคำปรึกษา เป็นต้น ทั้งนี้ การที่ประชาชนโทร.เข้ามาขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้วสามารถยับยั้งการฆ่าตัวตายได้ 1 หรือ 2 รายก็ถือว่าเป็นความสำเร็จที่ช่วยลดความสูญเสียหรือยับยั้งการฆ่าตัวตายได้” รมช.สาธารณสุข ขยายภาพการรณรงค์สร้างความรอบรู้ให้กับประชาชนและสังคม
ดร.สาธิต กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในปี 2563 กระทรวงสาธารณสุขจะมีการจัดรณรงค์ให้เกิดผลในทางปฏิบัติจริงๆ โดยจะไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เพราะพบว่าในเด็กกลุ่มนักเรียน นักศึกษามีการแข่งขันสูง จึงมีความเครียด รวมถึงมีเรื่องอกหัก และการที่เราเน้นในกลุ่มนักเรียนนักศึกษานั้น เพราะพบตัวเลขที่มีนัยสำคัญว่า เยาวชนกลุ่มเหล่านี้มีภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้น ถึงจะไม่มากนัก แต่เราก็ต้องป้องกันไว้ก่อน ดังนั้น สิ่งสำคัญคือจะมีการให้ความรู้ ฝึกให้เยาวชนรู้จักคิด รู้จักแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง โดยมีกรมสุขภาพจิตเป็นเจ้าภาพหลัก และอีกสิ่งที่สำคัญของการแก้ปัญหา คือ ต้องเริ่มจากคนใกล้ตัว ที่ต้องรู้จักสังเกตอาการ และความเปลี่ยนไป ของคนในครอบครัว เนื่องจากหากเราพบเร็วก็จะสามารถช่วยกันรักษาได้ทั้งรักษาอาการโรคซึมเศร้าและรักษาชีวิตจากการยับยั้งไม่ให้เกิดการฆ่าตัวตาย เป็นต้น
ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต สะท้อนภาพสถานการณ์การฆ่าตัวตายว่า ที่ประชาชนเห็นว่ามีจำนวนการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นนั้น จริงๆแล้วพบว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจนนำไปสู่การฆ่าตัวตายนั้นมีประมาณ 4.3 เปอร์เซ็นต์ของการฆ่าตัวตายเท่านั้น ส่วนโรคทางจิตเวชอื่นๆก็ส่งผลต่อการฆ่าตัวตายไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ จากการเก็บข้อมูลซึ่งจะมีการเก็บในทุกๆ 10 ปีแต่ไม่นับรวมในช่วงที่มีปัญหาพิษทางเศรษฐกิจนั้น จะพบการฆ่าตัวตายในกลุ่มผู้ป่วยทางจิตเวชจะอยู่ที่ 6-6.3 ต่อ 1 แสนประชากรต่อปีมาโดยตลอด ดังนั้น ข่าวการฆ่าตัวตายที่เหมือนจะเพิ่มมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าสังคมมีการตื่นตระหนักและให้ความสำคัญกับโรคซึมเศร้ามากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากการที่กรมสุขภาพจิตมีการให้ความรู้ และสร้างการมีส่วนร่วมในสังคมเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
“แต่สิ่งที่สำคัญคือ อยากย้ำกับผู้ป่วย หรือคนในครอบครัวที่มีคนป่วยโรคซึมเศร้าว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นโรคที่สามารถรักษาได้ โดยมี 2 วิธีหลักคือ 1.การใช้ยา ซึ่งปัจจุบันค่อนข้างทันสมัย ยาที่มีอยู่ค่อนข้างดี และมีผลข้างเคียงจากการรักษาน้อยมาก ทั้งยังมีทางเลือกที่หลากหลายด้วย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากมาพบแพทย์และมีการตรวจรักษาอย่างดี ปฏิบัติตามแพทย์แนะนำ และครอบครัวให้ความร่วมมือมีการจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับผู้ป่วย อาการก็จะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยการรักษาปัจจุบันนั้นจะให้รับประทานยาประมาณ 1 สัปดาห์ หรือ 10 วันเท่านั้น ซึ่งระยะเวลาในการรับประทานยาสั้นมากเมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อก่อนที่มีการรับประทานทีละหลายสัปดาห์ และ 2.การรักษาในรายที่มีอาการรุนแรงคือ การใช้ไฟฟ้า ซึ่งแพทย์จะมีการประเมินอาการและเลือกทางรักษาที่ดีที่สุดให้กับผู้ป่วย ดังนั้น อยากให้ทุกคนเปิดใจมองโรคซึมเศร้าเหมือนโรคทั่วไปเท่านั้น” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงการวางแผนการรักษาโรคซึมเศร้า
นพ.เกียรติภูมิ ยังเล่าอีกด้วยว่า สำหรับเทคนิคในการเปิดใจรับฟังผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้นมี 10 เทคนิค ประกอบด้วย
1.แสดงความใส่ใจ ประสานสายตา พยักหน้าตอบรับด้วยท่าทีอบอุ่น
2.ฟังอย่างเปิดใจ แล้วทำความเข้าใจผู้พูดให้มาก เพราะถ้าเราฟังเพื่อเข้าใจเขา เราจะรับรู้ตามความเป็นจริง 3.ใจอยู่กับผู้พูดตลอด ไม่เผลอคิดเรื่องอื่น ไม่เผลอคิดแทน หรือตัดสินแทน
4.สังเกตภาษากายของผู้พูด สีหน้า แววตา ท่าทาง ตั้งแต่เริ่มพูดคุยเป็นอย่างไร ระหว่างที่คุยหรือแม้แต่สิ้นสุดการคุยว่าเปลี่ยนแปลงอย่างไร
5.ฟังน้ำเสียง จังหวะการพูดว่า เขามีอารมณ์ความรู้สึกอย่างไรต่อเรื่องที่เล่า
6.ระหว่างที่ฟัง เราพยักหน้าหรือขานรับเป็นระยะๆให้รู้ว่าเราฟังอยู่ ก็จะช่วยให้เขาเปิดใจที่จะพูดเพิ่มขึ้น
7.มีการทวนข้อความ หรือซักถามประเด็นเพิ่มเติม เพื่อเข้าใจตรงกันในเนื้อหาที่กำลังสนทนา
8.การฟัง จะช่วยให้ได้ระบายความเครียดออกมา พวกเขาจะรู้สึกมีคนที่พร้อมจะเป็นเพื่อนและอยู่เคียงข้าง
9.คนทุกคนอยากมีค่าในสายตาของใครสักคนเสมอ
และ 10.เราสามารถใช้ใจของเรารับรู้อารมณ์ ความรู้สึกของผู้พูดได้
ทีมข่าวสาธารณสุข เห็นด้วยกับมาตรการการเสริมความรู้และเพิ่มช่องทางในการให้ความรู้เรื่องโรคซึมเศร้าของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ที่ดึงทุกภาคส่วนมาร่วมมือกันสกัดโรคร้าย รวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกคนในสังคม เพื่อช่วยสกัด เพชฌฆาตเงียบ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
แต่สิ่งที่เราอยากขอฝากคือ การเอาจริงเอาจังกับการสกัดโรคซึมเศร้า เพราะหากเกิดความเจ็บป่วยทางจิตใจขึ้นแล้ว ก็จะถือเป็นฝันร้ายของคนไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
คงไม่มีใครอยากเห็นความสูญเสียจากการต้องสังเวยชีวิตด้วย “โรคซึมเศร้า” ที่สามารถป้องกันและรักษาได้ด้วยความรัก ความใส่ใจ และความจริงใจ.
ทีมข่าวสาธารณสุข