(ภาพจาก : Massachusetts Institute of Technology)

พลังงานนิวเคลียร์ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั่วโลก และการขยายตัวนั้นส่งผลให้เกิดความต้องการที่เพิ่มขึ้นในการจัดการกับน้ำปริมาณจำนวนมากที่ใช้สำหรับระบายความร้อนให้กับโรงงานไฟฟ้าเหล่านี้ ล่าสุด นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ในสหรัฐอเมริกา เผยพัฒนาวิธีการใหม่กำจัดอนุภาคกัมมันตรังสีที่ปนเปื้อนในน้ำและทำให้ส่วนที่เหลือของน้ำถูกนำกลับมาใช้ใหม่ผ่านระบบทำความเย็นของโรงงานไฟฟ้า

ทีมวิจัยอธิบายว่า วิธีการนี้ใช้กระบวนการ shock electrodialysis ซึ่งใช้สนามไฟฟ้าในการสร้างคลื่นกระแทกที่จะผลักอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้า หรืออิออนอนุภาคกัมมันตรังสีไปยังด้านหนึ่งของท่อที่เต็มไปด้วยวัสดุพรุน เพื่อให้สารปนเปื้อนเข้มข้นถูกแยกออกจากน้ำส่วนที่เหลือ ทีมพบว่าสารปนเปื้อนกัมมันตรังสี 2 ชนิดคือไอโซโทปของโคบอลต์ และซีเซียมสามารถเลือกกำจัดได้ รวมถึงน้ำที่มีกรดบอริกและลิเธียม หลังจากที่น้ำถูกทำความสะอาดก็จะนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ในเครื่องปฏิกรณ์ หรือน้ำสะอาดบางส่วนก็ถูกปล่อยสู่ธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทีมได้มุ่งเน้นการใช้งานที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้นที่จะช่วยปรับปรุงเศรษฐกิจและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และยังวางแผนวิจัยต่อเนื่องเพื่อพัฒนาระบบการกำจัดสารปนเปื้อนอื่นๆ เช่น แยกสารตะกั่วออกจากน้ำดื่ม ที่น่าสนใจก็คือ วิธีนี้เป็นระบบใหม่ที่มีราคาไม่แพงและปรับขนาดได้ ซึ่งวิธีดังกล่าวอาจเป็นไปได้ที่จะนำมาใช้ภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า.