ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หรือ ศธ. ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานของสถานศึกษาในการจัดการเรียนการสอน Coding ณ โรงเรียนเกษมพิทยา เขตวัฒนา กรุงเทพฯ

นางศรีวรรณ สายฟ้า ผู้อำนวยการโรงเรียนเกษมพิทยา กล่าวว่า โรงเรียนเกษมพิทยาเป็นโรงเรียนเอกชน เปิดสอนระดับอนุบาลถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพสถานศึกษามายาวนานกว่า 58 ปี เพื่อให้เยาวชนทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่ดีมีคุณภาพ มีความรู้ มีคุณธรรม และจริยธรรม สามารถดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

จากนโยบายเร่งด่วนในการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 การส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ หรือ Coding ของกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนเกษมพิทยาได้ตระหนักถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนนโยบาย Coding ด้วยการพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดแบบมีตรรกะ และมีระบบในการแก้ปัญหา สามารถวางแผนการจัดการอย่างเป็นขั้นตอนในการดำเนินชีวิต ดังนั้น ภาคเรียนนี้จึงได้จัดรูปแบบการเรียนการสอนในลักษณะ Unplug Coding ในระดับอนุบาลและระดับประถมศึกษา เพื่อวางพื้นฐานของการพัฒนาสู่การคิดอย่างเป็นระบบ และเปลี่ยนเป็นภาษา Coding เข้าคอมพิวเตอร์ต่อไป

สำหรับการจัดการเรียนการสอน Unplug Coding จะสามารถพัฒนานักเรียนมีความคิดที่เป็นระบบและได้เรียนรู้อย่างสนุก พัฒนาทักษะการคิดแก้ปัญหา นำมาเชื่อมโยงกับบริบทเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน โดยนำ Unplug Coding มาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 

คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า นโยบาย Coding ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่สำคัญของ ศธ. ในการเตรียมความพร้อมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 โดยในอนาคต Coding จะเป็นภาษาที่เชื่อมคนทั้งโลกกว่า 7.7 พันล้านคน ซึ่งการสอน Coding ในชั้นอนุบาลและประถมศึกษา ยังไม่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ แต่จะสร้างเด็กให้มีทักษะใหม่ที่โลกต้องการผ่านการเล่มเกม หรือกิจกรรมใกล้ตัวที่สนุกในรูปแบบ Unplug Coding เช่น การสอนเด็กอนุบาลติดกระดุมเสื้อ โดยให้คิดก่อนว่าจะติดกระดุมจากเม็ดไหนไปยังเม็ดไหนเพื่อให้เสร็จเรียบร้อยและรวดเร็ว แล้วลงมือปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม Coding มีความซับซ้อนหลายระดับแตกต่างกันไป ซึ่งการสอน Unplug Coding ตั้งแต่ระดับอนุบาลนั้นเป็นการเตรียมความพร้อมสู่ระดับที่ยากขึ้น โดยเด็กจะมีทักษะอย่างน้อย 5-6 อย่าง ได้แก่ ทักษะการอ่าน-เขียน การวางแผน การคิดแบบสร้างสรรค์มีเหตุผล ความกล้าตัดสินใจ เป็นต้น โดยการจัดการเรียนการสอน Unplug Coding ถือเป็นปฏิรูปการศึกษาครั้งแรกของประเทศไทยที่ถึงตัวเด็กโดยตรง รวมถึงเป็นการเตรียมคนจำนวนหลายล้านคนให้สามารถปรับตัวเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล และแข่งขันกับนานาชาติได้อย่างมีศักดิ์ศรี

คุณหญิงกัลยา กล่าวต่อว่า ระยะแรก ศธ.โดยสถาบันส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้พัฒนาครูสำหรับสอน Unplug Coding และผลิตสื่อการเรียนการสอน เพื่อเริ่มสอนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 ในโรงเรียนนำร่องกว่า 500 แห่ง และเป้าหมายระยะถัดไปในปี 2563 จะดำเนินการอบรมครูสอน Unplug Coding เพิ่มขึ้นอีกจำนวน 20,000-30,000 คน

ทั้งนี้ ฝากถึงครูทุกคนว่า หน้าที่ของครูไม่ใช่เพียงการสอนหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีจิตวิญญาณความเป็นครูควบคู่ไปด้วย ช่วยกันประคับประคองเด็กไม่ให้ออกนอกลู่ทาง และสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียน สนับสนุนให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่สนใจ ตลอดจนปลูกฝังเรื่องราวประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมอันดีงามของไทยร่วมด้วย

คุณหญิงกัลยา กล่าวอีกว่า ชื่นชมและให้กำลังใจคณะผู้บริหาร คณะครู ในการช่วยเป็นพลังที่สำคัญของการศึกษาไทยในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษา Coding ในทุกระดับการศึกษา และขอให้ยืนหยัดในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา เพื่อพัฒนานักเรียนให้มีความรู้ มีคุณธรรม จริยธรรม มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และสามารถดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขต่อไป