การตื่นตัวรับมือ สภาวะแวดล้อมของโลก ที่ส่งผลกระทบกับ สภาพอากาศและความเป็นอยู่ของมนุษย์ กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกประเทศทั่วโลกหันมาสนใจและให้ความสำคัญ
นักเคลื่อนไหวที่มีชื่อเสียง เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ เช่น เกรต้า ธันเบิร์ก จากประเทศสวีเดน อายุเพียง 16 ปี แต่มีบทบาทและอิทธิพลด้านสิ่งแวดล้อมมาก โดยมีผู้ร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านโลกร้อนมากกว่า 2 ล้านคน จาก 135 ประเทศทั่วโลก มีการนัดหยุดเรียนทุกวันศุกร์ เป็นสัญลักษณ์ ให้เกิดการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง หรือที่เรียกว่า Fridays for Future ขบวนการวันศุกร์เพื่ออนาคต
การประชุมสุดยอดของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐฯ เกรต้า ธันเบิร์ก ใช้เรือใบข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกจาก อังกฤษ ไป สหรัฐฯ แทน การขึ้นเครื่องบิน เหตุเพราะมีการใช้พลังงานน้อยกว่า และเป็นการใช้พลังงานจากธรรมชาติทำให้เกิดมลพิษน้อยกว่าด้วย
ในกลุ่มวัยรุ่นที่ออกมาร่วมกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเริ่มจะเข้มงวดกับการใช้ชีวิตให้มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เช่น กินอาหารที่เป็นผักผลไม้ หรือกินสัตว์เล็ก ไม่กินสัตว์ใหญ่ เป็นต้น
ประเทศไทย ถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ผลิตขยะทะเลมากในลำดับที่ 10 ของโลก โดยเฉพาะในภาคตะวันออกที่มีการขยายตัวด้านการลงทุนและโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ มีการเคลื่อนย้ายแรงงานและมีแนวโน้มว่าจะมีของเสียจากชุมชนและกิจกรรมต่างๆ ที่คาดว่าจะมี ปริมาณขยะเพิ่มขึ้น ประมาณ 20.08 ล้านตัน ในปี 2580
เรื่องนี้ทางหน่วยงานของรัฐไม่ได้นิ่งนอนใจ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษา โครงการระยองโมเดล กำหนดเป้าหมายในปี 2565 จ.ระยอง จะต้องไม่มีขยะพลาสติกหลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อมและไหลลงทะเล เกิดมลพิษต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งรวมถึงสัตว์ทะเลอย่างเด็ดขาด
...
ที่ผ่านมารัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญโดยการขับเคลื่อนในระดับอาเซียน ผลักดันให้เกิด ปฏิญญากรุงเทพ 2019 เพื่อแก้ไขปัญหาทางทะเลร่วมกัน ในการกำจัดขยะพลาสติกปี 2561-2573
ทั้งนี้ วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้กำหนดนโยบายการเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ต่อการบริหารจัดการขยะทางทะเลต้นแบบ โดยสั่งการให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพิจารณาพื้นที่ความพร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการนำร่อง ได้แก่ เขตเทศบาลนครระยอง สวนสาธารณะโขดปอ และ ชุมชนเนินพระ เป็นพื้นที่สาธิตการจัดการขยะทางทะเล ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เริ่มจากการคัดแยกขยะตามบ้านเรือน นอกจากนี้ ยังมีการรณรงค์ลดขยะทางทะเลซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากสมัยที่ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ จตุพร บุรุษพัฒน์ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
กิจกรรมต่างๆเหล่านี้ ในพื้นที่ชายฝั่งทะเล 24 จังหวัดที่เข้าร่วมโครงการเป็นการร่วมมือของการปกครองท้องถิ่น จังหวัด ชุมชนและองค์กรระหว่างประเทศเปิดโครงการพื้นที่สาธิตการบริหารขยะทางทะเลแบบครบวงจรที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งที่มีส่วนร่วมการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกอย่างจริงจัง.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th