"แผ่นดินไหวในไทย" เกิดจากอะไร พบ 2 รอยเลื่อนที่สำคัญ คือ รอยเลื่อนสะกาย และรอยเลื่อนแม่น้ำแดง ที่เราต้องรู้

นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ปัจจุบันแผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่ยังไม่สามารถพยากรณ์ได้ เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อม การวางแผนเพื่องานป้องกันภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้าก่อนเกิดเหตุการณ์ ขณะเกิดเหตุการณ์ และหลังเหตุการณ์

โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเราเฝ้าระวังตลอด 24 ชม. เมื่อตอน 23.49 น. ของวันที่ 20 พ.ย. 62 ที่ผ่านมาเกิดขนาดเล็กๆ 2.9 ต่อมา 04.03 น. ของวันที่ 21 พ.ย. เกิดขนาดประมาณ 5.9 ซึ่งเราคาดว่าน่าจะเป็น Main Shock หรือแผ่นดินไหวหลัก

อย่างไรก็ตาม ที่คาดว่าน่าจะเป็นแผ่นดินไหวหลัก คือ ช่วงเวลา 06.50 น. ที่สปป.ลาว ขนาด 6.4 ความลึก 3 กิโลเมตร ห่างจากบ้านน้ำช้าง ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน ประมาณ 20 กิโลเมตร หลังจากนั้นจนถึงปัจจุบันก็ยังมีอาฟเตอร์ช็อก (After Shock) ต่อเนื่องไปอีกสักระยะ เพราะเป็นการคลายตัวของเปลือกโลก หลังจากนั้นจะเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งก็ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก

...

นาวาอากาศเอก กล่าวอีกว่า สำหรับความกังวลเรื่องเขื่อนต่างๆ ในประเทศนั้นทางกรมอุตุฯ อยากเรียนให้ทราบว่า หน่วยงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เฝ้าระวังและรับมือไว้อยู่แล้ว ซึ่งในกรณีที่เกิดขึ้นไม่ได้สร้างความเสียหายให้เขื่อนที่มีในประเทศไทยแต่อย่างใด

"ส่วนที่คนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะอยู่บนตึกสูงได้รับรู้แรงสั่นสะเทือนการเกิดแผ่นดินไหวในครั้งนี้ เป็นเพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินอ่อน และไม่ได้มีชั้นหิน เหมือนนครสวรรค์ เพชรบูรณ์ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นเวลาเราปลูกบ้าน ทำไมถึงต้องตอกเข็มไม่เท่ากัน เพราะมีชั้นดิน ชั้นหินไม่เท่ากัน แต่ขอให้เชื่อมั่นว่า การก่อสร้างตึกสูง และบ้านเรือนต่างๆ ในปัจจุบันการก่อสร้างมีการเตรียมพร้อมรับมือการเกิดแผ่นดินไหวอยู่แล้ว อย่าได้กังวลใจ"

แผ่นดินไหวที่ไทยเกิดจากอะไร 

นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า แผ่นดินไหวในประเทศไทย มาจากรอยเลื่อนมีพลัง ก็คือ การแตกของแผ่นดิน และมาจากการบีบอัด มาจากการเลื่อนหลัก 2 ตัว คือ รอยเลื่อนจากพม่า หรือรอยเลื่อนสะกาย (Sagiang Fault) และรอยเลื่อนแม่น้ำแดง (Red River Fault) ที่มาจากประเทศจีนมาถึงประเทศเวียดนาม ซึ่ง 2 ตัวนี้จะส่งแรงมาถึงประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเหนือ

อย่างไรก็ตาม ระยะทางผ่านมามีการขยับตัวของเปลือกโลกหลายครั้ง จึงส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวขาดกลาง และขนาดเล็กประมาณ 3-5 หลายครั้งในภาคเหนือ รอยเลื่อนที่ทำให้เกิด 6.4 ที่ถือเป็น main shock แต่ก่อนหน้าก็เกิดมาประมาณ 12-13 ครั้ง ซึ่งไม่น่าวิตกจนเกินไป

จากการศึกษา รอยเลื่อนศูนย์กลางเกิดที่ สปป.ลาว นั้น เราพบว่าเมื่อเกือบ 100 ปีก่อน หรือวันที่ 13  พ.ค. 2478 เคยเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 6.5 เรามีการศึกษาเทียบเคียงกับรอยเลื่อน ปัว ที่น่าน เราพบว่า รอยเลื่อนปัว มีค่าการเกิดแผ่นดินไหวประมาณ 1,500 ปี โดยมีขนาด 6.4 ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ และเราก็เฝ้าระวังอยู่โดยตลอด โดยทุกๆ รอยเลื่อนเราได้ทำการศึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ