อัญชันพืชสมุนไพรไทย ตลาดมีความต้องการสูง เพราะสีม่วงในดอกอุดมไปด้วยสารแอนโธไซยานิน มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ละลายในน้ำได้ดี ช่วยป้องกันการเกิดโรคระบบหลอดเลือดหัวใจ มะเร็ง และเบาหวาน ...แต่การปลูกของเกษตรกรในปัจจุบัน ไม่ให้ความสนใจเรื่องสายพันธุ์ ทำให้เกิดสายพันธุ์แปรปรวน คุณภาพของสารสีม่วงด้อยลงไป
ดร.จรัญ ดิษฐไชยวงศ์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร จึงได้ร่วมกับ อ.เกสร แช่มชื่น นักวิจัยเกษตร พัฒนาอัญชันพันธุ์ใหม่ขึ้นมาได้เป็นผลสำเร็จ ได้พันธุ์อัญชันที่ให้ปริมาณสารแอนโธไซยานินมากกว่าพันธุ์เดิมถึง 42% และได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชให้เป็นพันธุ์ใหม่ของกรมวิชาการเกษตร ปี 2561 ได้รับพระราชทานชื่ออัญชันสายพันธุ์ใหม่นี้ว่า “เทพรัตน์ไพลิน 63”
“เราได้เริ่มรวบรวมอัญชันพันธุ์ปลูกกันทั่วไปมาตั้งแต่ปี 2554 จากนั้นเริ่มมีการคัดเลือกและแยกสายพันธุ์ที่ดีในปี 2556 เลือกต้นที่เก็บเกี่ยวดอกได้เร็ว มีผลผลิตสูง ลักษณะดอกซ้อน มีกลีบดอก 5 กลีบ ที่สำคัญให้ปริมาณสารแอนโธไซยานินรวมสูงที่สุด หรือไม่น้อยกว่า 70 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักกลีบดอกสด 100 กรัม จากนั้นทำการปรับปรุงพันธุ์โดยการนำพันธุ์ที่ดีที่สุดมาผสมตัวเอง โดยใช้มุ้งคลุมต้นเดี่ยวๆทั้งต้นเพื่อป้องกันแมลงมาผสมข้ามพันธุ์ เมื่อออกดอกติดเมล็ด นำไปปลูกเปรียบเทียบพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนา การเกษตรพิจิตร ก่อนจะนำไปทดสอบพันธุ์ในแปลงเกษตร อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง กระทั่งในปี 2559 นำไปตรวจสอบในห้องแล็บ พบว่า พันธุ์ใหม่ที่มีปริมาณสารแอนโธไซยานินมากกว่าพันธุ์เดิม คือ มีสารแอนโธไซยานิน 100 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักกลีบดอกสด 100 กรัม”
...
อ.เกสร อธิบายถึงลักษณะเด่นของอัญชันพันธุ์เทพรัตน์ไพลิน 63 มีกลีบดอกไม่น้อยกว่า 5 กลีบ ในขณะที่พันธุ์ทั่วไป มีไม่ถึง 5 กลีบ มีอายุเก็บเกี่ยวครั้งแรกหลังปลูก 28 วัน เร็วกว่าพันธุ์ปลูกทั่วไป 6 วัน ผลผลิตดอกสดเฉลี่ย 2,122 กก.ต่อไร่ พื้นที่ปลูกเหมาะสมในเขตภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง
แต่ข้อควรระวัง ไม่ควรปลูกในพื้นที่น้ำท่วมขัง หากปลูกเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ทำพันธุ์ ควรปลูกห่างจากบริเวณที่มีการปลูกพันธุ์อื่นๆ เพื่อป้องกันแมลงมาผสมข้ามพันธุ์.