รอง ผบ.ตร. ลงพื้นที่ตรวจคดี จับกระทงลิขสิทธิ์ เผยพฤติกรรม อาจเข้าข่ายกรรโชกทรัพย์ บริษัทลิขสิทธิ์ ออกคำชี้แจงฉบับ 3 หลังคนสับสน ทีมจับบอกได้รับอำนาจถูกต้องจากบริษัท
วันที่ 6 พ.ย. ที่ สภ.เมืองนครราชสีมา นายพรเทพ เจริญพงศ์อนันต์ ประธานสภาทนายความ เดินทางไปที่ สภ.เมืองนครราชสีมา ได้เปิดรับเรื่องจากผู้ที่เคยถูกกลุ่มลิขสิทธิ์ จับกุม เรียกรับเงิน ที่ทยอยเข้าแจ้งความกันตั้งแต่ช่วงเช้า โดยมาช่วยตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ ซึ่งพบว่า มีผู้ที่เคยถูกจับกุม ทยอยเดินทางเพื่อแสดงความจำนง จะแจ้งความกลับ รวม 22 คน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา รวบรวม และตรวจสอบเอกสารเพื่อดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีต่อไป
ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ที่เข้ามาร้องเพื่อประสงค์จะแจ้งความ เป็นต่างกรรม ต่างวาระ อาจต้องแยกคดีกันแจ้งความ ซึ่งต้องดูหลักฐานต่างๆ อย่างรอบคอบ ก่อนดำเนินการต่อไป
ต่อมา พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. เดินทางมาติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยเข้าพบผู้ปกครองของเด็กสาว วัย 15 ปี ที่ถูกจับกระทงลายลิขสิทธิ์ คนล่าสุด ที่เป็นข่าวดังบนโลกโซเชียล เพื่อสอบถามเรื่องราวที่เกิดขึ้น พร้อมกำชับให้เจ้าหน้าที่ ดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา
พล.ต.อ.วิระชัย เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าวเห็นว่า ผู้รับมอบอำนาจลิขสิทธิ์ จูงใจให้ทำกระทง หรือว่าจ้างให้เด็กทำผิด จึงไม่สามารถเป็นผู้เสียหายในทางนิตินัย และไม่น่าเป็นผู้ที่สามารถแจ้งความได้ เพราะเป็นผู้ที่จูงใจ หรือเป็นผู้ว่าจ้าง ตามแนวทางพิพากษาฎีกา และวิธีการเรียกรับเงิน ก็ไม่ได้เป็นการเรียกเพื่อชดเชยค่าเสียหายของสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์ แต่เป็นการเรียกเพื่อแลกกับการไม่ถูกดำเนินคดี เพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพ ลักษณะนี้จึงอาจเข้าข่ายกรรโชกทรัพย์ จึงให้ผู้ปกครองและแม่เด็กเข้าแจ้งความกับกลุ่มที่เกี่ยวข้องต่อไป
...
นอกจากนี้ ในส่วนของรายอื่นๆ ที่ต้องการเข้าแจ้งความ จะได้ให้มาพบพนักงานสอบสวนในวันพรุ่งนี้ (7 พ.ย.) เพื่อตรวจสอบหลักต่างๆ หากมีหลักฐานชัดเจนก็จะได้ดำเนินให้แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาเดียวกันความผิดกรรโชกทรัพย์ กักขังหน่วงเหนี่ยว โดยยืนยันทางตำรวจจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ทีมจับลิขสิทธิ์กระทง ออกมาให้สัมภาษณ์ ยืนยันว่าไม่ใช่ "แก๊งตบทรัพย์" แต่ได้รับมอบอำนาจถูกต้องโดยตรง จากเจ้าของลิขสิทธิ์ที่ญี่ปุ่น ซึ่งการออกมายืนยันครั้งนี้ ทำให้โลกโซเชียลเกิดความสับสน เนื่องจากเมื่อวานนี้ ทางบริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทนลิขสิทธิ์ของบริษัท San-X ประเทศญี่ปุ่น อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ได้ออกคำแถลงการณ์ ไม่ได้มอบหมายให้ผู้ใดทำการจับลิขสิทธิ์ผิดกฎหมายแต่อย่างใดตามข่าว ซึ่งทางบริษัทฯ ได้ทำการปรึกษาฝ่ายกฎหมายและมอบหมายให้ทนายความดำเนินการสืบหาความจริงในกรณีดังกล่าวแล้ว
ทำให้วันนี้ บริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) ออกคำชี้แจงอีกครั้ง โดยระบุว่า ขณะนี้ เนื่องจากมีข้อมูลข่าวสารซึ่งอาจทำให้เกิดความสงสัยหรือสับสนต่อสาธารณชนโดยทั่วไป
บริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) ขอยืนยันว่า ทางบริษัทฯ มิได้นิ่งนอนใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้ทางฝ่ายบริหาร ฝ่ายกฎหมาย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของบริษัท กำลังทำงานอย่างหนักในการรวบรวมข้อมูลและหลักฐานต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องชัดเจนที่สุด เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย ผู้เสียหายเป็นเยาวชน และเป็นเรื่องราวที่สังคมให้ความสนใจ
ทั้งนี้ บริษัทฯ ขอยืนยันว่าไม่มีนโยบายเรียกรับเงิน ไม่ได้มีรายได้มาจากการจับลิขสิทธิ์ผิดกฎหมาย และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามข่าวแต่อย่างใด บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะดำเนินการอย่างถูกต้องและเป็นธรรม โดยยึดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สรุปดราม่า ด.ญ.15 โดนหลอกทำกระทง ล่อจับ พาเข้าห้องดำ จ่อคดีพลิก
- ทนายไขข้อกฎหมาย ดราม่ากระทงลิขสิทธิ์ เผยส่วนใหญ่จบที่ยอมความ
- สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ช่องโหว่มิจฉาชีพ ตีกินแกล้งจับ รีดเอาเงินเหยื่อ
- ทีมจับลิขสิทธิ์กระทง ยันไม่ใช่ "แก๊งตบทรัพย์" รับมอบอำนาจถูกต้อง
- นายกฯ ไม่เห็นด้วย “ล่อจับ” ละเมิดลิขสิทธิ์ ชี้ ไม่ขัดข้องแก้รัฐธรรมนูญ
- ผู้ปกครองเด็ก 15 ปี แจ้งความ เอาผิดตัวแทนลิขสิทธิ์ ผู้เสียหายเพิ่ม 16 ราย