องค์การสหประชาชาติได้จัดการมอบรางวัลให้แก่ประเทศต่างๆในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยวิธีการคัดเลือกมีกรรมการจากประเทศสมาชิกมาร่วมพิจารณาจากใบสมัครพร้อมผลงานที่แสดงให้เห็นถึงความโดดเด่นในการส่งเสริมการสร้างถิ่นฐานของมนุษย์ การพัฒนาบ้านเมือง และชุมชนในด้านต่างๆ และแนวทางที่แสดงให้เห็นถึงการดำเนินงานที่พัฒนาอย่างยั่งยืนตามวัตถุประสงค์
ในปีนี้พิธีมอบรางวัลจัดที่ UN Conference Center, Addis Ababa ประเทศเอธิโอเปีย และมีผลงานของนักวิชาการชาวไทยได้รับรางวัลด้วย
นั่นคือ ศ.ดร.มณีรัตน์ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ซึ่งเป็น ภาคีสมาชิกราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสภา ประธานศูนย์พหุภาษาการแปลและการล่ามแห่งอาเซียน ที่ได้รับรางวัล Global Human Settlements Outstanding Contribution Award 2019-United Nations Sustainable Development Goals (UNSDG GFHS Goal ที่ 11) ขององค์การสหประชาชาติ
ศ.ดร.มณีรัตน์ นับเป็นคนแรกที่ได้รางวัลในสาขาเฉพาะนี้ ที่นำไปสู่การครอบคลุมมิติของมนุษยชาติและขอบเขตทั้งหมดของการลงหลักปักฐานของมนุษย์ ดังเช่น อารยธรรม ที่เป็นทั้งเรื่องภาษา ศาสนา การศึกษา ศิลปวัฒนธรรมฯ (human dimensions and the whole range of human settlements)
ที่น่าสนใจคือ โครงการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเสนอต่อ UNSDG โดย ศ.ดร.มณีรัตน์ ได้นำเสนอรัฐบาล โดยมีวัตถุประสงค์เผยแผ่พระพุทธศาสนา
ผ่านภาษาอังกฤษออกไปยังนานาชาติเพื่อนำไปสู่สันติสุขแห่งโลก และถวายเป็นมหากุศลอันยิ่งใหญ่หาสิ่งอื่นใดเสมอเหมือน แด่พระบูรพมหากษัตริย์ และ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นชอบในการจัดทำ โดยมอบหมายให้ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็น ราชบัณฑิต เป็นผู้ดูแลโครงการนี้ โดยมีกรมการศาสนาเป็นหน่วยประสานงาน ร่วมกับมหาเถรสมาคม
...
ทั้งนี้ เป็นเวลากว่า 2,500 ปี ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และได้ออกเผยแผ่พระพุทธศาสนา แต่ยังไม่มีการแปลออกมาครบถ้วนเป็นภาษาอังกฤษอันเป็นภาษากลาง ตามมาตรฐานการแปลสากลให้เป็นฉบับสมบูรณ์ฉบับแรกของโลก
โครงการนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จในเวลา 3 ปี โดยจะแสวงหานวัตกรรมสมัยใหม่ในระดับ Big data, AI, Deep learning และ Block chain ที่จะช่วยให้การทำงานรวดเร็วมีประสิทธิภาพ
เมื่อสำเร็จแล้ว การแปลพระไตรปิฎกจากภาษาอังกฤษออกไปเป็นภาษาอื่นๆจะมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น แบบเดียวกับที่ พระคัมภีร์ไบเบิล มีการแปลออกไปมากกว่า 2,000 ภาษา.
“ซี.12”