มีคุณผู้อ่านเขียนเข้ามาถามในเฟซบุ๊กแฟนเพจ Kate Inspirer ว่าลูกอยู่ ป.5 แล้วแต่เรียนไม่เก่ง ให้เรียนพิเศษก็แล้ว อะไรก็แล้ว ผลการเรียนก็ยังออกมาไม่ดี มีตกหลายวิชา ไม่รู้จะทำอย่างไรดี กลัวว่าจะสอบเข้ามัธยมต่อไม่ได้
ปัญหาลูกเรียนไม่เก่ง น่าจะเป็นปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่ยุคนี้กลุ้มอกกลุ้มใจมากที่สุด เพราะสังคมสมัยนี้เต็มไปด้วยการแข่งขัน ซึ่งทัศนคติที่ลูกเราต้องเก่งนั้น ในแง่หนึ่งเป็นทัศนคติที่ผลักดันให้พ่อแม่ให้ความสำคัญและใส่ใจในการเรียนของลูกมากขึ้น แต่อีกแง่หนึ่งเราควรระวังว่าทัศนคตินี้อาจกลับทำให้ลูกเกิดความเครียดได้มากขึ้นเช่นกัน และมักจะทำให้ลูกเติบโตขึ้นเป็นคนเก่ง แต่มีความสุขและภาคภูมิใจกับความเก่งของตัวเองในระยะสั้นๆ เท่านั้น (เพราะต้องกังวลต่อว่าแล้วจากนี้ ตนจะรักษาความเก่งไว้ได้อย่างไร) ดังนั้น อยากให้พ่อแม่มีทัศนคติเพิ่มอีกสักนิดว่าอยากให้ลูกเป็นคนเก่งด้วยความสนุกกับสิ่งที่ทำ ทำในสิ่งที่อยากทำ ไม่ใช่พ่อแม่อยากให้ทำ และไม่ใช่ทำในสิ่งที่ต้องทำหรือควรทำ
การจะเลี้ยงลูกให้เป็นคนเก่งนั้น ต้องเริ่มจาก Passion หรือ ฉันทะ ความชอบในสิ่งนั้นก่อน หากเด็กไม่ชอบ สิ่งนั้นก็จะกลายเป็นสิ่งที่ต้องทำทันที ไม่ใช่สิ่งที่อยากทำ เช่น จูงใจหรือเปิดโอกาสให้ลูกได้สนุกกับสิ่งที่เรียน ไม่ใช่สิ่งที่ต้องเรียนและต้องทำคะแนนให้ดีกว่าคนอื่น เป็นต้น จากนั้นต้องให้ลูกได้มีโอกาสลงมือลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง เขาถึงจะเห็นความสามารถหรือศักยภาพในการเรียนรู้และแก้ไขปัญหาของเขา และเน้นความสนุกในการเรียนรู้และเห็นตัวเองเติบโต ไม่ใช่เน้นที่ผลลัพธ์ว่าคะแนนหรือเกรด หรือการชนะคนอื่นเป็นเครื่องแสดงความสำเร็จ
...
แต่การเปลี่ยนทัศนคติอย่างเดียวไม่ได้ช่วยให้ลูกเรียนเก่งขึ้นได้ แต่พ่อแม่ยังต้องหาสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ลูกเรียนไม่เก่งให้ได้ด้วย จึงจะแก้ไขปัญหาได้ถูกทาง ดังนี้
1. ข้อจำกัดทางร่างกาย เช่น สายตาสั้น สายตาเอียง ตาขี้เกียจ ปัญหาการฟัง ปัญหาในการอ่านผสมเสียงไม่ได้ หรือโรค Dyslexia ปัญหาในการจับประเด็นตีความ ปัญหาสมาธิสั้น ออทิสติก แอสเพอร์เกอร์ ฯลฯ ซึ่งโรคต่างๆ เหล่านี้ พ่อแม่ต้องสำรวจด้วยใจเป็นกลาง อย่ากลุ้มใจและไม่ยอมรับ หรือ มองข้ามว่าเป็นพฤติกรรมน่ารักหรือซนตามปกติ ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อแก้ปัญหาให้ถูกจุดแต่เนิ่นๆ
2. ปัญหาทางด้านจิตใจ เช่น กลัวครูดุ ถูกเพื่อนแกล้งหรือข่มขู่เพราะขาดทักษะทางสังคมในการรับมืออย่างเหมาะสม ความเครียดจากครอบครัวทำให้เด็กครุ่นคิดถึงปัญหาและขาดสมาธิในการเรียน ความรู้สึกว่าตนเองไม่เก่งไม่ฉลาดเท่าคนอื่น ซึ่งเกิดจากการถูกเปรียบเทียบทั้งทางตรงและทางอ้อม เด็กบางคนอาจมีข้อจำกัดเรื่องความเจ็บป่วยซึ่งพ่อแม่อาจเผลอตอกย้ำด้วยความกังวลมากเกินไปจนทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าคนอื่นเพราะมีข้อจำกัด ครูเคทเจอเคสเด็กบางคนป่วยเป็นโรคประจำตัวอย่างหอบหืด หรือเบาหวาน ซึ่งได้รับการดูแลจากแพทย์เป็นอย่างดี แต่พ่อแม่ก็กังวลใจว่าลูกจะเจ็บป่วยที่โรงเรียนจนทำให้เด็กไม่กล้าทำอะไร ไม่ให้วิ่งเล่นกับเพื่อน ไม่ให้ไปทัศนศึกษา ฯลฯ ซึ่งเรื่องนี้อ่อนไหวทางจิตใจสำหรับเด็กๆ มาก พ่อแม่ควรช่วยให้ลูกดำเนินชีวิตให้เป็นปกติให้มากที่สุด
3. ปัญหาด้านวิธีการเรียนรู้ คนเรามีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน เช่น บางคนเรียนรู้ได้ดีจากการฟัง เด็กกลุ่มนี้จะนั่งฟังครูตาแป๋ว มีสมาธิดีในห้องเรียน เด็กบางคนเรียนรู้ได้ดีจากการอ่าน ก็มักไม่ฟังครูแต่ชอบอ่านหนังสือเอง บางคนเรียนรู้ได้ดีจากการดูภาพหรือแผนภูมิ ก็อาจนั่งจดเล็คเชอร์ไปวาดภาพไป บางคนเรียนรู้ได้ดีจากการลงมือทำ กลุ่มนี้จะไม่ทนฟังครูจนจบ แต่ละลงมือทำแบบฝึกหัดหรือการทดลองด้วยตัวเอง บางคนต้องการกระบวนการเรียนรู้ที่พิเศษกว่าคนอื่น แต่วิธีการสอนในบ้านเราส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบเดียว ครูเคทเคยเจอเคสผู้ปกครองมาปรึกษาว่าลูกเรียนได้เกรด 1 บางเทอมก็ไม่ถึง 1 แต่พอได้คุยกับเด็กพบว่าเฉลียวฉลาดมาก ด้วยความสงสัยจึงพาเด็กไปวัด IQ กับจิตแพทย์ และพบว่าเด็กมี IQ สูงถึง 149 และมีตรรกะดีมาก แต่การวัดผลที่โรงเรียนเน้นการท่องจำ เด็กจึงได้เกรดไม่ดี นอกจากนี้ ปัญหาการเรียนรู้แบบสำเร็จรูปในปัจจุบัน ทำให้เด็กๆ ไม่ต้องขวนขวายหรือตั้งคำถามแล้วค้นหาคำตอบด้วยตนเอง แต่ทุกอย่างพร้อมให้อยู่แล้ว จึงทำให้ขาดโอกาสในการฝึกสมองตามกระบวนการที่ควรจะเป็น
4. นอกจากนี้ ต้องมองปัญหาอื่นๆ อีก เช่น สภาพแวดล้อมของบ้านและโรงเรียนมีมลพิษสูง เด็กอดนอนจากการตื่นเช้าหรือนอนดึกมากเกินไป การเดินทางไกล การขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อสมอง การติดเกม การเรียนพิเศษมากเกินไป จนไม่มีเวลาอยู่นิ่งๆ กับตัวเองบ้าง ฯลฯ
ดังนั้น การตอบคำถามว่าลูกเรียนไม่เก่งจะทำอย่างไรดี ครูเคทไม่มีคำตอบแบบฟันธง พ่อแม่ผู้ปกครองควรเร่งหาสาเหตุที่แท้จริง และแก้ไขปัญหาอย่างถูกวิธีค่ะ
ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 08-1458-1165 หรือเข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ