สถาบันการศึกษาชั้นนำ –หน่วยงานของไทย จับมือ สถาบันการศึกษาญี่ปุ่น ผุดโครงการ-ตั้งศูนย์วิจัยขยะพลาสติกในทะเล หวังลดขยะพลาสติกในทะเลน่านน้ำไทย โดยได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น ด้านนักวิจัยเผยพบข่าวดี ปี 2562 พฤติกรรมคนไทยใช้ถุงพลาสติกลดลง

เมื่อวันที่ 7 ต.ค.62 ที่อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดแถลงเปิดตัวโครงการความร่วมมือ ในการทำวิจัยขยะพลาสติกในทะเล พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์วิจัยในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้ความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่น โดยมี ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายสมชาย ทรงประกอบ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ดร.ธิราช รุ่งเรืองกนกกุล ผู้อำนวยการสมาคมการตลาดเพื่อการเกษตรและอาหารแห่งภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก และ ประธานคณะทำงานด้านอาหารและเกษตร องค์การสหประชาชาติ เอเชียแปซิฟิก (UN-AFMA-FAO Annex)

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า "ปัญหาขยะพลาสติกและขยะทะเล ถือเป็นปัญหาระดับโลก ประเทศไทยติดอันดับ 6 ของประเทศที่มีขยะตกลงสู่ทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับขยะทะเล พร้อมทั้งสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนหันมาสนใจในปัญหาสิ่งแวดล้อม และลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง มาอย่างต่อเนื่อง การที่สถาบันการศึกษา นำโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีโครงการความร่วมมือด้านการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในทะเลเป็นสิ่งที่ดี เพราะหน่วยงานภาครัฐสามารถนำข้อมูลที่ได้มาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการขยะทะเลต่อไป" 

...



รศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "ที่ผ่านมาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับขยะทะเลและไมโครพลาสติกมาอย่างต่อเนื่อง และขยะเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นผลมาจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยภายใต้โครงการนี้ จะมีความร่วมมือ กับหน่วยงานรัฐ คือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมควบคุมมลพิษ รวมถึงมหาวิทยาลัยอีก 5 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยอิสเทิร์นเอเชีย มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยสงขลา นครินทร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์" 

รศ.ดร. วรณพ บอกต่อว่า “โครงการนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก รัฐบาลญี่ปุ่นผ่าน Japan International Cooperation Agency (JICA) และมี มหาวิทยาลัยญี่ปุ่น รวม 7 แห่ง เข้าร่วม ได้แก่ Kyushu University, Tokyo University of Marine Science and Technology, Tokyo University of Agriculture and Technology, Kyoto University, Kumamoto University, Chuo University และ Kagoshima University โดยมีระยะเวลาการดำเนินการ 5 ปี ส่วนเป้าหมายสำคัญของโครงการคือ เพื่อลดปริมาณขยะทะเลในน่านน้ำไทย โดยเฉพาะขยะพลาสติก ให้สอดคล้องกับ SDGs14 อันเป็นการปกป้องและอนุรักษ์ทะเลและทรัพยากรใน ทะเลไทย ผ่านการศึกษาวิจัย การมีส่วนร่วม การสร้างจิตสำนึก และการสร้างชุมชนเข็มแข็ง และจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเพื่อเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้ง ยังเป็นการสร้างความยั่งยืนใน กระบวนการเฝ้าระวัง ตรวจติดตาม และป้องกันปัญหามลพิษจากขยะทะเลและขยะพลาสติกในน่านน้ำไทย"



"โครงการความร่วมมือในการทำวิจัยขยะพลาสติกในทะเลฯ มีระยะเวลาการดำเนินการ 5 ปี ซึ่งจะมีนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ไทยและญี่ปุ่นสำรวจวิจัยขยะพลาสติกในทะเลไทยและทะเลจีนใต้ ซึ่งถือว่าเป็นโครงการความร่วมมือศึกษาวิจัยครั้งแรกที่ขยายผลไปถึงทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นจุดที่สำคัญ เป็นพื้นที่ที่ตั้งของประเทศที่มีปัญหาขยะพลาสติก ไมโครพลาสติกในทะเลติด 10 อันดับของโลก โดยในปีที่ 1-3 จะร่วมศึกษาวิจัยกับภาคีเครือข่าย เพื่อให้ได้ข้อมูลของที่มาของขยะพลาสติก ไปถึงทิศทางการเคลื่อนที่ของขยะตั้งแต่บนสู่ทะเล ช่วงเวลาการเคลื่อนที่ของขยะในทะเล โดยรัฐบาลญี่ปุ่นจะสนับสนุนเครื่องมือสำหรับวิจัยตลอดโครงการความร่วมมือ ซึ่งใน 3 ปีแรกนี้จะได้ข้อมูลสำคัญนำมาจำลองทางคณิตศาสตร์ ใช้ในการกำหนดมาตรการ ให้คำแนะนำในการจัดการให้หน่วยงานภาครัฐ และประชาชนในการลดขยะพลาสติก และเมื่อครบระยะเวลาวิจัย 5 ปี จะทำให้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งมีชีวิตและมนุษย์ได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้แนวทางจัดการขยะพลาสติกของไทยมีประสิทธิภาพ รวมถึงประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนด้วย" รศ.ดร.วรณพ กล่าว

รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งล่าสุดได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ทูตแห่งมหาสมุทรเพื่อความยั่งยืนของภูมิภาคเอเชียตะวันออก จาก UN-FAO-AFMA Annex กล่าวว่า "ปัจจุบัน นักวิจัยจุฬาฯ ได้รณรงค์แก้ไขปัญหาขยะในทะเลอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดได้รับการสนับสนุนจากโครงการทะเลไทยไร้ขยะ จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการสร้างจิตสำนึกให้กับชุมชน โดยเลือกชุมชนบ้านช่องแสมสาร เพื่อจัดทำเป็น 'แสมสารโมเดล' ในการลด ละ เลิก การทิ้งขยะลงสู่ทะเล ผ่านการสร้างจิตสำนึก และผ่านนวัตกรรมทางสังคม เพื่อที่จะผลักดันให้แสมสาร ไม่ใช่เป็นแค่ตัวอย่างพื้นที่ในการลดปริมาณของขยะที่ลงสู่ทะเล แต่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สืบต่อไป"

พร้อมกันนี้ รศ.ดร.สุชนา ยังเปิดเผยว่า พลาสติกนอกจากส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์ทะเลแล้ว ยังมีผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการย่อยสลายของขยะพลาสติกเป็นไมโครพลาสติก และนาโนพลาสติก ซึ่งมีรายงานการวิจัยพบว่าไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่ในสัตว์น้ำ สัตว์ทะเลจำนวนมาก หากไม่มีการจัดการอย่างจริงจัง ไมโครพลาสติกเหล่านี้ก็จะส่งผลกระทบต่อมนุษย์ ซึ่งบริโภคสัตว์น้ำเป็นอาหารด้วย โดยเฉลี่ยแล้วจะพบไมโครพลาสติกปนเปื้อนกว่า 10,000 ชิ้นต่อคน

"สำรวจการใช้งานพลาสติกประเทศใช้แล้วทิ้งในปัจจุบันในปี 2562 เฉลี่ยแล้วประชากรไทยใช้พลาสติกลดลงจากเดิม 8 ชิ้นต่อคนต่อวัน เหลือเพียง 1-2 ชิ้นต่อคนต่อวัน แบ่งเป็นถุงพลาสติก 1.18 ใบต่อคนต่อวัน, ขวดน้ำพลาสติก 1.51 ขวดต่อคนต่อวัน, หลอดพลาสติก 0.69 ชิ้นต่อคนต่อวัน, แก้วพลาสติก 0.78 ใบต่อคนต่อวัน และก้านสำลี 1 ก้านต่อคนต่อวัน" รศ.ดร.สุชนา กล่าว.