24,645 ล้านบาท งบประมาณสำหรับ “การวิจัยของประเทศ” ประจำปี 2563 นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีงบฯวิจัยสูงถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี
หลังจากมีการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมีเจตนารมณ์มุ่งปฏิรูประบบราชการอย่างน้อย 3 ด้าน ได้แก่ ด้านงบประมาณ ด้านการบริหารจัดการ และด้านกฎระเบียบต่างๆที่เป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนงานกระทรวงให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในโลกแห่งศตวรรษที่ 21
โดยงบฯวิจัย 24,645 ล้านบาท อยู่ภายใต้งบประมาณหลักที่รัฐบาลจัดสรรให้ อว.จำนวน 142,479 ล้านบาท จะถูกแบ่งเป็น 2 ก้อน ก้อนแรก เป็นงบฯวิทยาศาสตร์ 4,350 ล้านบาท ซึ่งจะต้องเชื่อมโยงกับงานวิจัยของกระทรวงอื่นด้วย เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น และก้อนที่สอง งบฯวิจัยและนวัตกรรม 20,295 ล้านบาท งบฯก้อนนี้จะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ใช้ตามมาตรา 17 (1) ตาม พ.ร.บ.การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2562 คือให้จัดสรรตรงไปที่หน่วยงาน 7,740 ล้านบาท และใช้ตามมาตรา 17 (2) คือจัดสรรผ่านกองทุน 12,554 ล้านบาท และใน 12,554 ล้านบาท จะถูกแบ่งเป็น 2 ก้อน คืองบประมาณสำหรับโครงการสำคัญที่ตอบโจทย์ประเทศ (Flagship) 8,384 ล้านบาท งบประมาณของหน่วยงาน หรืองบฯโครงการปกติ เช่น ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เป็นต้น 4,170 ล้านบาท
“งบประมาณที่สำคัญคืองบฯสำหรับโครงการสำคัญที่ตอบโจทย์ประเทศ (Flagship) 8,384 ล้านบาท ที่จะทำให้เกิด การปฏิรูปประเทศ ผ่านโครงการต่างๆ งบฯตัวนี้จะถูกอนุมัติจากสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเท่านั้น ซึ่งประกอบไปด้วย 4 แพลตฟอร์ม คือ 1.การพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ 2.การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม 3.การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและการวิจัย และ 4.สร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดการเหลื่อมล้ำ ผ่าน 27 โครงการสำคัญที่ตอบโจทย์ประเทศ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปประเทศ” ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษาฯ กล่าวถึงความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณวิจัยของประเทศ
...
สำหรับ 27 โครงการ สำคัญที่ตอบโจทย์ประเทศ แบ่งเป็น 4 แพลตฟอร์ม
ด้านการพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ งบประมาณ 2,473.611 ล้านบาท อาทิ โครงการปัญญาประดิษฐ์สำหรับทุกคน (AI for ALL) เป็นฐานการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต โครงการสนับสนุนแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย แผนงานสร้างโอกาสและความสามารถในการเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีควอนตัม โครงการการร่วมพัฒนาดาวเทียมเพื่อการวิจัยอวกาศแห่งชาติ เป็นต้น
ด้านการวิจัยและสร้างนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม งบประมาณ 1,530 ล้านบาท อาทิ โครงการประเทศไทยไร้ขยะ (Zero Waste Thailand) โครงการเกษตรอัจฉริยะ โครงการบริหารจัดการน้ำ โครงการไทยอารี เพื่อตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุ โครงการชุดวิจัยนโยบายสันติประชาธรรมเพื่อการสร้างสังคมเปิด เป็นต้น
ด้านการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน งบประมาณ 4,953 ล้านบาท อาทิ แผนงาน BCG in Action ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่จะเน้นเรื่องของสุขภาพ การเกษตร การท่องเที่ยว การแพทย์ เพื่อการแข่งขัน โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ สำหรับสร้างกำลังคนและทักษะแห่งอนาคตในภูมิภาคเพื่อตอบโจทย์การพัฒนานวัตกรรมของประเทศ และการยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจท้องถิ่นในภูมิภาคด้วยองค์ความรู้ ภูมิปัญญาและนวัตกรรม เป็นต้น
และ ด้านการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ งบประมาณ 1,685 ล้านบาท อาทิ โครงการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมและชุมชน ชุมชนนวัตกรรม อาสาประชารัฐ ที่จะให้นักศึกษาออกไปสร้างนวัตกรรมในพื้นที่ของตัวเอง โครงการ University for Inclusive Growth Program : UNG ที่จะให้นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลไปขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีโครงการปฏิรูประบบอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม งบประมาณ 1,380 ล้านบาท อาทิ โครงการห้องปฏิบัติการอนาคตด้านนโยบายการอุดมศึกษาฯ โครงการกองทุนหุ้นส่วนระดับโลก (Global Partnership Fund) เป็นต้น
“โครงการทั้งหมดจะมีการบริหารงบประมาณผ่านหน่วยบริหารจัดการ ซึ่งจะมีกระบวนการ แข่งขัน และจะพิจารณาจากข้อเสนอแผนงานที่ได้รับการประเมินว่ามีประสิทธิผลและเกิดประโยชน์คุ้มค่า ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดรับข้อเสนอแผนงานได้ประมาณเดือน ม.ค.2563” ดร.สุวิทย์กล่าว
“ทีมข่าววิทยาศาสตร์” มองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ประเทศหันมาให้ความสำคัญและมีการตั้งงบประมาณเพื่อการวิจัย มีการจัดสรรอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมเพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อน เพราะครั้งนี้ไม่ใช่แค่งบประมาณของ อว.เท่านั้นที่มีการแยกแยะอย่างชัดเจน แต่ยังเชื่อมโยงไปถึงงานวิจัยของกระทรวงอื่นด้วย
ที่สำคัญมีการบริหารจัดสรรงบฯวิจัยตรงไปยังหน่วยงานและจัดสรรผ่านกองทุนเพื่อให้เกิดความโปร่งใส
เพราะการที่เราจะนำพาประเทศก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างแท้จริงนั้น ต้องเริ่มจากการ “ปฏิวัติความคิด ปฏิรูปตนเอง”
ถึงเวลาจัดวางระบบ วางหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดมูลค่าจากงานวิจัย และท้ายที่สุดเพื่อนำมาสู่การรังสรรค์นวัตกรรมให้เกิดขึ้นในประเทศไทย.
ทีมข่าววิทยาศาสตร์