แฟนเพจ กองปราบปราม ไขคำตอบ เวลาเสียชีวิตพริตตี้ "ลันลาเบล" บ่งบอก "เขตอำนาจการสอบสวน" มีความสำคัญอย่างไรต่อการดำเนินคดี
จากกรณีการเสียชีวิตของ น.ส.ธิติมา นรพันธ์พิพัฒน์ อายุ 25 ปี หรือ "ลันลาเบล" พริตตี้สาวสวยที่พบเป็นศพบนโซฟาล็อบบี้คอนโดของ นายรัชเดช วงศ์ทะบุตร หรือ "น้ำอุ่น" อายุ 24 ปี หนุ่มพริตตี้บอย ต่อมาศาลอาญาธนบุรี ได้อนุมัติหมายจับ นายรัชเดช จำนวน 3 ข้อหา ได้แก่ 1. กักขังหน่วงเหนี่ยวเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย 2. พาผู้อื่นไปเพื่อกระทำอนาจาร และ 3. กระทำอนาจารผู้อื่น
โดยระหว่างนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องหาห้วงเวลาการเสียชีวิตที่ชัดเจน เพราะหากเสียชีวิตในช่วงเวลาตั้งแต่ 15.00-17.00 น. คดีนี้จะอยู่ในความรับผิดชอบของ สภ.บางบัวทอง หากอยู่ในห้วง 17.00-18.00 น. ก็เป็นตามเส้นทางที่รถของน้ำอุ่นวิ่งมาถึงคอนโดย่านตลาดพลู หากอยู่ในหลังห้วงเวลา 18.00-19.00 น. จะเป็นความรับผิดชอบในพื้นที่ สน.บุคคโล ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แฟนเพจ กองปราบปราม ให้ความรู้คำอธิบายกฎหมาย เรื่อง "เขตอำนาจการสอบสวน" ระบุว่า เขตอำนาจการสอบสวน มีความสำคัญต่อการดำเนินคดีอาญาเป็นอย่างมาก เพราะหากการสอบสวนเกิดขึ้นโดยพนักงานสอบสวนที่ไม่มีอำนาจ จะมีผลให้การสอบสวนนั้นเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีค่าเท่ากับคดีอาญาที่ยังไม่มีการสอบสวน ทำให้พนักงานอัยการไม่สามารถฟ้องคดีนั้นได้ และหากมีการฟ้องคดีไป ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้อง ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 120
...
เขตอำนาจการสอบสวนแบ่งได้คือ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 18 ได้วางหลักไว้ว่า พนักงานสอบสวนจะมีอำนาจในการสอบสวนในคดีอาญาได้ก็ต่อเมื่อ เหตุนั้นเกิดขึ้น หรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นในเขตพื้นที่รับผิดชอบของพนักงานสอบสวนท่านนั้น เช่น มีการลักทรัพย์ที่เชียงใหม่ พนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวน จะต้องเป็นพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบในพื้นที่เชียงใหม่ พนักงานสอบสวนนอกเขตพื้นที่ ไม่มีอำนาจการสอบสวน
ถ้าเหตุเกิดขึ้นหลายท้องที่ ต้องแจ้งที่ไหน หากเป็นการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ ต่อเนื่องกัน เช่น ลักพาตัวผู้หญิงขึ้นมาบนรถ จากนั้นก็มีการข่มขืนกระทำชำเรามาตลอดทาง ผ่านหลายพื้นที่ ความผิดลักษณะนี้ ป.วิ.อาญา มาตรา 19 ได้แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ
1. หากเจ้าหน้าที่ทราบเรื่องก่อน เช่น จากการเข้าแจ้งความของญาติผู้เสียหาย เจ้าหน้าที่ที่ทราบเรื่องก่อน จะเป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจสอบสวน
2. หากจับตัวผู้กระทำผิดได้ก่อนจะมีการแจ้งความ เช่น จับได้ขณะกระทำความผิด เพราะถูกตำรวจตั้งด่าน และพบว่ามีการลักพาตัวมา เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่จับกุม จะเป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจสอบสวน
ด้วยความห่วงใย ก่อนที่ท่านจะเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ท่านควรตรวจสอบว่า เหตุที่เกิดขึ้นอยู่ในพื้นที่การสอบสวนของสถานีตำรวจใด โดยท่านสามารถโทรศัพท์ไปสอบถามที่สถานีตำรวจใกล้เคียง เกี่ยวกับเขตพื้นที่รับผิดชอบให้ชัดเจนก่อน เพื่อป้องกันความสับสน และเพื่อความสะดวกในการเดินทางไปแจ้งความร้องทุกข์.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
(ข้อมูลจาก แฟนเพจ กองปราบปราม)