(ภาพ:โรงไฟฟ้าบางปะกง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงและเป็นโรงไฟฟ้าหลักเสริมด้านความมั่นคงของประเทศ)
ในบรรดาโรงไฟฟ้าที่สร้างขึ้นมาในประเทศไทย โรงไฟฟ้าบางปะกง ที่ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถือเป็นโรงไฟฟ้าหลักที่เสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้าของประเทศ
นอกจากนี้ยังช่วยสนับสนุนและรองรับความเจริญเติบโตของพื้นที่ชายฝั่งทะเล และการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในฝั่งทะเลภาคตะวันออกได้เป็นอย่างดี
อีกทั้งยังเป็นต้นแบบการสร้างโรงไฟฟ้าที่ยืนหยัดอยู่คู่กับชุมชนในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะ “โรงไฟฟ้าสีเขียว” ได้อย่างเต็มตัว เนื่องจากมีระบบดูแลสิ่งแวดล้อมดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ติดตั้งเครื่องจับฝุ่นประจุไฟฟ้าสถิต สามารถแยกฝุ่นละเอียดและเหนียวได้ดี มีประสิทธิภาพสูง
ส่วนน้ำที่ระบายออกจากหอหล่อเย็น จะถูกควบคุมคุณภาพให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและมีระบบตรวจวัดเป็นระยะๆ นำไปใช้เลี้ยงปลาและสัตว์น้ำได้ดี
...
สำหรับ โรงไฟฟ้าบางปะกง ก่อสร้างขึ้นในปี 2520 เชื่อมโยงจากการค้นพบก๊าซธรรมชาติซึ่งมีปริมาณมากพอในเชิงพาณิชย์เป็นแห่งแรก ที่ “แหล่งเอราวัณ” มีการวางท่อใต้ทะเลเพื่อขนส่งก๊าซธรรมชาติมาขึ้นฝั่งที่ จ.ระยอง และผลิตก๊าซธรรมชาติครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2524
จากนั้น กฟผ. จึงเริ่มก่อสร้าง โรงไฟฟ้าบางปะกง บริเวณริมฝั่งด้านซ้ายของแม่น้ำบางปะกง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังความร้อนและโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาแหล่งพลังงานในประเทศ และประหยัดเงินตรารั่วไหลออกนอกปีละมหาศาล
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงไฟฟ้าบางปะกง เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2528
ล่าสุด รัฐบาล ได้แก้ปัญหา น้ำมันปาล์มล้นตลาด 400,000 ลิตร โดยให้ กฟผ. รับซื้อน้ำมันปาล์มมาให้ โรงไฟฟ้าบางปะกง ผลิตไฟฟ้า ลอตแรกซื้อเมื่อวันที่ 2 ก.พ.2562 จำนวน 160,000 ลิตร และเดือน พ.ค.2562 ให้สั่งซื้อ เพิ่มอีก 200,000 ลิตร
วันก่อน นายศานิต นิยมาคม ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน กฟผ.ได้เชิญสื่อมวลชนไปเยี่ยมการนำน้ำมันปาล์มมาใช้ผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง
นายวิเชษฐ พิสิฐอมรชัย หัวหน้ากองบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าความร้อน โรงไฟฟ้าบางปะกง อธิบายให้ฟังว่า กำลังผลิตของโรงไฟฟ้าบางปะกง ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังความร้อน 4 เครื่อง เครื่องที่ 1 และ 2 กำลังผลิตชุดละ 550 เมกะวัตต์ ได้ปลดระวางไปแล้ว
ปัจจุบันเครื่องที่ 3 และ 4 กำลังผลิตชุดละ 320 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงมา 30 ปี ไม่ได้ใช้แล้ว แต่เก็บสำรองไว้ด้านความมั่นคง จนถึงปี 2572 จึงจะปลดระวาง
ดังนั้นเมื่อ รัฐบาล ให้ช่วย กฟผ. แก้ปัญหาน้ำมันปาล์มล้นตลาด จึงได้นำน้ำมันปาล์มมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติน้ำมันปาล์มล้นตลาด โดยนำมาใช้กับเครื่องที่ 3 ซึ่งมีระบบแยกท่อทำให้ใช้เดินเครื่องได้
นายศานิต กล่าวเสริมว่า กฟผ. ได้ตั้ง “กองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า” ขึ้น นำเงินจากการจำหน่ายไฟฟ้าเข้ากองทุนฯและนำมาใช้ในกิจกรรมต่างๆ อาทิ ด้านการพัฒนาอาชีพ การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี กีฬาและดนตรี สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม
พร้อมกันนี้ น.ส.สมจิตร พันธุ์สุวรรณ นายกเทศมนตรีตำบลท่าข้าม อ.บางปะกง และ นายสมบัติ บุรมิ ปลัดเทศบาล ได้มานำเยี่ยมชม โดยมี นายพลากร บุญห่อ หัวหน้าแผนก ปชส.โรงไฟฟ้าบางปะกง และ น.ส.สายรุ้ง เกิดแก้ว พนักงานวิชาชีพระดับ 7 ร่วมอธิบายด้วย
น.ส.สมจิตร กล่าวว่า ที่ ต.บางปะกง เป็นชุมชนที่ให้ความสำคัญการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยได้รับการสนับสนุนจาก กฟผ.อย่างดี ทำให้ธรรมชาติริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง มีการฟื้นฟูระบบนิเวศจนสัตว์น้ำต่างๆกลับมาชุกชุม
จากนั้นนำไปชม “บ้านปลาธนาคารปู” ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง ด้านหน้า วัดบนบางปะกง ที่มีแหล่งเลี้ยงเพาะพันธุ์ปลานานาชนิด และปูแสม มี น.ส.มลิ เทพรักษา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.บางปะกง กับชาวบ้านช่วยกันดูแล
อีกสถานที่คือ “เกาะธรรมชาติท่าข้าม” เป็นพื้นที่อนุรักษ์ป่าชายเลน มีการปลูกป่าชายเลนมาอย่างต่อเนื่องจนอุดมสมบูรณ์ กลายเป็นแหล่งอนุรักษ์ฟื้นฟูปูแสมและปลา มีการทำคอนโดฯปูให้ปูแสมมาวางไข่ด้วย รวมทั้งมีจุดเที่ยวชมธรรมชาติสวยงาม
บนเกาะธรรมชาติยังมี พิพิธภัณฑ์ปลาโลมาอิรวดี ที่จะว่ายมาตามกระแสน้ำให้ชมทุกปี เพราะระบบนิเวศริมฝั่งแม่น้ำบางปะกงมีการฟื้นฟู และยังมีการสร้างหอคอยให้ชมธรรมชาติและสัตว์
จุดสุดท้ายได้ไปเยี่ยมชม โครงการ “เยาวชนต้นกล้า โรงไฟฟ้าสีเขียว” ซึ่ง กฟผ. สนับสนุนให้เยาวชนในท้องถิ่นอนุรักษ์เพาะพันธุ์ ปลา “อีกง” ซึ่งเป็นปลาท้องถิ่น ที่ ร.ร.บางปะกง (บวรวิทยายน) ต.บางปะกง นายสุทธิพล ไตรรัตน์สิงห์ ผอ. และ น.ส.อมรรัตน์ งามบ้านผือ ครูที่ดูแลนำนักเรียนชายหญิงชั้น ม.6 ที่รับช่วงต่อจากรุ่นพี่ มาบรรยายให้ฟัง
ธรรมชาติริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง มีการอนุรักษ์ฟื้นฟูกลับสู่ธรรมชาติทั้งพืชและสัตว์หายาก จึงเป็นแหล่งธรรมชาติที่น่าไปสัมผัสอีกแห่ง.
ทีมข่าวภูมิภาค