น่าตกใจ พบไมโครพลาสติกในท้อง "ปลาทู" จากการเก็บตัวอย่างเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง ค่าเฉลี่ยสูงตัวละ 78 ชิ้น ชี้ คนกินเข้าไปเสี่ยงต่อหลายโรค

วันที่ 10 ก.ย.62 แฟนเพจ ReReef เผยแพร่การศึกษาไมโครพลาสติกใน "ปลาทู" ของศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ จ.ตรัง บริเวณเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม

พบว่าปลาทูขนาดน้ำหนักเฉลี่ย 66.53 กรัม ความยาวมาตรฐานเฉลี่ย 17.46 เซนติเมตร มี "ไมโครพลาสติก" ในกระเพาะของปลาทูเฉลี่ย 78.04 ชิ้นต่อตัว ประกอบไปด้วยลักษณะที่เป็นเส้นใย แท่งสีดำ และกลิตเตอร์ ซึ่งลักษณะของไมโครพลาสติกที่พบมากที่สุดคือ ชิ้นสีดำ ด้วยค่าร้อยละ 33.96

...

ขณะที่ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า พลาสติกในท้องปลาทูมาจากถุงพลาสติกจากใต้ทะเล ถุงกร่อนแตกตัวเป็นไมโครพลาสติก ลอยขึ้นไปอยู่ในน้ำ ตราบใดที่ถุงยังอยู่ เศษพลาสติกก็หลุดออกมาเรื่อยๆ ดังนั้นการเก็บขยะทะเลจึงเป็นส่วนช่วยลดไมโครพลาสติกโดยตรง

ปลาทูกินแพลงก์ตอนในน้ำ ก็กินไมโครพลาสติกเข้าไปด้วย จากนั้นก็ไปอยู่ในท้อง บางส่วนสลายตัวกลายเป็นนาโนพลาสติก เข้าสู่กระแสเลือดและเนื้อเยื่อปลาได้ เรากินสัตว์น้ำเหล่านี้เข้าไป ก็อาจเป็นสาเหตุเสี่ยงต่อหลายโรค ตามที่องค์การอนามัยโลกเคยเตือนไว้.