สมาพันธ์หน่วยพัฒนาครูแห่งประเทศไทย เตรียมเข้าพบ รมว.ศึกษาฯ แนะเดินหน้าโครงการพัฒนาครูรูปแบบครบวงจร หรือ "คูปองครู" ต่อ
ดร.สุรัตน์ ยุทธเสรี ประธานสมาพันธ์หน่วยพัฒนาครูแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย พันธมิตร หน่วยพัฒนาครู จัดงานแถลงข่าว เสวนา และบันทึกข้อตกลง MOU ร่วมใจเดินหน้า คูปองครู สู่นวัตกรรมการศึกษาไทย เมื่อวันที่ 31 ส.ค.62 ณ โรงแรมวังสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กรุงเทพฯ
ดร.สุรัตน์ กล่าวว่า สมาพันธ์หน่วยพัฒนาครูแห่งประเทศไทยได้ก่อตั้งขึ้นโดยการรวมตัวกันของสถาบันการศึกษา นิติบุคคล เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.62 ณ โรงแรมเอเชีย โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือการรวมพลังหน่วยพัฒนาครู จัดอบรมครูตามโครงการพัฒนาครูรูปแบบครบวงจรหรือ "คูปองครู" ได้อย่างมีคุณภาพเพื่อพัฒนาคุณภาพครูสู่การยกระดับคุณภาพของผู้เรียน ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 100 หน่วยพัฒนา จากรากฐานทั้งหมด 883 หน่วย และจะทวีจำนวนเพิ่มขึ้นตามลำดับ
"โครงการคูปองครูเกิดขึ้นเมื่อปี 2560 ริเริ่มโดย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศธ. ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากพระราชดำรัสของในหลวง รัชกาลที่ 9 ความว่า "ส่งเสริมให้ครูรักเด็กและให้เด็กรักครู" โดยครูต้องเริ่มต้นด้วยการเขียนแผนพัฒนาตนเอง (ID plan) จากการวิเคราะห์ปัญหาของผู้เรียน แล้ว Shopping เลือกหลักสูตรเข้าอบรมกับหน่วยพัฒนาครูและนำกลยุทธ์ที่ได้รับมาแก้ไขปัญหาผู้เรียนด้วยกิจกรรม PLC กับเพื่อนครู จนผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ที่สูงขึ้นครูจึงสะสมผลงาน รับการประเมินเพื่อเลื่อนวิทยฐานะ ว21/2560 โดยเฉพาะวิทยฐานะ "ชำนาญการพิเศษ" จะสิ้นสุดที่โรงเรียนซึ่งเป็นการกระจายอำนาจและลดภาระงานราชการแต่เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียนอย่างแท้จริง ดังนั้นสมาพันธ์หน่วยพัฒนาครูจึงเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาครูสู่ผู้เรียนที่มีขุมกำลังอันมหาศาล มีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญอย่างหลากหลายทั้งในวงการศึกษา และนอกวงการศึกษา มีหลักสูตรการพัฒนาครูเปี่ยมด้วยคุณภาพ ซึ่งสมาพันธ์ฯ พร้อมที่จะรวมพลังปฏิบัติภารกิจเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาแบบก้าวกระโดดให้กับประเทศไทยตลอดไป" ดร.สุรัตน์ กล่าว
...
ผศ.ดร.ฉัตรแก้ว ใจงาม ที่ปรึกษาสมาพันธ์ฯ กล่าวถึงคุณค่าของโครงการพัฒนาครูรูปแบบครบวงจรว่า คูปองครูนับเป็นนวัตกรรมการพัฒนาครูที่แปลกใหม่น่าตื่นเต้นสามารถพัฒนาครูไปพร้อม ๆ กันได้กว่า 3 แสนคน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาและพัฒนาผู้เรียนปีละกว่า 3 ล้านคน โดยเปิดประตูรั้วกระทรวงศึกษาธิการ ให้หน่วยพัฒนามืออาชีพจากทุกภาคส่วนมาร่วมกันพัฒนาครูไปสู่เด็ก ทำให้ประหยัดงบประมาณลงจากเดิมถึง 10 เท่า โดยมีขั้นตอนที่โปร่งใสเป็นธรรม กล่าวคือ สถาบันคุรุพัฒนากลั่นกรองและรับรองหลักสูตรที่หลากหลาย สำนักพัฒนาครูของ สพฐ. กำหนดราคา และครูเลือกหลักสูตรที่สอดคล้องกับแผน ID Plan แล้วนำไปใช้พัฒนาผู้เรียน
ที่ปรึกษาสมาพันธ์ฯ กล่าวต่อว่า จากผลการประเมินโครงการคูปองครูโดยสำนักพัฒนาครูฯ ของ สพฐ. พบว่าในปี 2560 ครูมีความพึงพอใจเฉลี่ยร้อยละ 84.41 และปี 2561 ค่าเฉลี่ยร้อยละ 99.08 ซึ่ง นายกรัฐมนตรีนำไปประโคมข่าวว่าเป็นนโยบายดีเด่นของรัฐมนตรีรัฐบาลในที่ประชุมนานาชาติแต่ในปี 2562 เมื่อมีการผลัดเปลี่ยนรัฐบาลนโยบายคูปองครูที่สถาบันคุรุพัฒนาได้ประกาศรับรองหลักสูตรเกือบ 3,000 หลักสูตรแล้ว กลับมีแนวโน้มชะงักงันลงกลางคันในขณะที่หน่วยพัฒนาครูได้ลงทุนและเตรียมการมาเป็นอย่างดีเนื่องจากมีกระแสข่าวว่าในปีงบประมาณ 2563 คูปองครูอาจจะถูกแปรเปลี่ยนไปจากเจตนารมณ์เดิม ที่เปิดประตูกระทรวงศึกษาธิการให้ผู้เชี่ยวชาญทุกภาคส่วนในสังคมมามีส่วนร่วมในการพัฒนาครูและยกระดับคุณภาพการศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของท่าน รมว.ศธ. คนปัจจุบัน มาเป็นการให้หน่วยราชการจัดกันเองเหมือนในอดีต เป็นการปิดกั้นโอกาสของครู และเด็กไทยที่จะได้รับสิ่งใหม่ๆ จากโลกที่เปิดกว้างไปอย่างน่าเสียดายยิ่ง
อาจารย์ปัญญา ทรงเสรีย์ เลขาธิการสมาพันธ์ฯ ในฐานะตัวแทนจากสมาคมพัฒนาวิชาชีพครูแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ตนชื่นชมศรัทธาต่อท่านรมว.ศึกษาธิการที่มาจากภาคประชาชน และนโยบายที่ทันสมัย ทันโลกของท่านแต่สำหรับ เรื่อง คูปองครูนั้น ท่านเพิ่งเข้ามาใหม่ยังไม่ทราบถึง "หัวใจ" ของโครงการที่แท้จริง ดังนั้นตัวแทนสมาพันธ์ฯ จึงจะเข้าไปพบท่านในวันที่ 6 ก.ย.นี้ เพื่อช่วยท่านสร้างแบรนด์ใหม่ ที่จะโดนใจเด็กไทยและผู้ปกครองนับสิบล้านคน คือ "คูปองครู สู่ผู้เรียน" เราจะไม่ขอร้องให้ท่านทำเพื่อหน่วยพัฒนาครู หรือทำเพื่อครูเพราะ หัวใจของคูปองครู คือ "กระบวนการสร้างครู สู่การสร้างเด็ก" หรือ ผู้เรียน ซึ่งเป็นปลายทางแห่งสายธารของการศึกษาไทย แบรนด์นี้ จะยิ่งใหญ่รองรับการมาจากภาคประชาชนของท่าน และพ่อแม่ผู้ปกครองจะไม่ผิดหวัง ดังที่ท่านให้สัญญาไว้
ข้อสรุปที่จะเสนอกระทรวงศึกษาธิการ คือ 1.รักษาระบบที่ดีไว้ ประกาศเดินหน้าคูปองครู ควบรวบปี 2562-2563 อนุมัติงบรายหัวละ 10,000 บาท จัดอบรมครู 1 ตุลาคม 2562–31 สิงหาคม 2563 2.ใช้กระบวนการให้ครบวงจร จาก "ครูสู่เด็ก"4 ขั้นตอน คือ 1.วางแผน ID Plan 2.เลือกหลักสูตรเข้าอบรมกับหน่วยพัฒนาครู 3.ร่วมกิจกรรม PLC รวมพลังครูพัฒนาผู้เรียน และ 4.ทำให้ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนสูงขึ้น และครูสะสมผลงานรับการประเมินเพื่อเลื่อนวิทยฐานะ
3.ให้หน่วยพัฒนาครูที่ผ่านการรับรองหลักสูตรจากสถาบันคุรุพัฒนา จากทุกภาคส่วนได้เปิดรุ่นและจัดอบรมครูตามโปรแกรมที่วางไว้ สอดคล้องกับนโยบายของ รมว.ศธ. ข้อ 4 เรื่อง การระดมพหุปัญญาของมนุษย์ที่หลากหลาย และจากการริเริ่มให้มี "สมัชชาแห่งการศึกษา" ของสภาการศึกษา และ 4.ประเมินผลโครงการอย่างเป็นระบบ เพื่อการปรับปรุงพัฒนา โดยการจัดตั้งกองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาตามมาตรา 52 ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เพื่อความยั่งยืนต่อไป.